นวัตกรรมรักษ์โลก การตลาดโลกสวยเพื่อเศรษฐกิจสีเขียว

 

นางชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์*

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ 

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

6 Info innovation Earth

          เมื่อต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ประเทศญี่ปุ่นได้มีการผลิตถุงพลาสติกจากอ้อยและเรซิ่นข้าวโพดที่สามารถย่อยสลายด้วยแบคทีเรียจากธรรมชาติได้กว่าร้อยละ 90 ให้กลายเป็นน้ำและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ภายใน 180 วัน โดยเป็นผลงานของบริษัท Fukusuke Kogyo ผู้ผลิตถุงพลาสติกรายใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น ที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่จังหวัดเอฮิเมะ ร่วมมือกับนักวิจัยของมหาวิทยาลัย Gunma เพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดขยะในมหาสมุทรโดยถุงขนาดมาตรฐาน สามารถรับน้ำหนักได้สูงสุดถึง 8 กิโลกรัม  แม้ว่าจะมีต้นทุนสูงกว่าถุงพลาสติกเเบบเดิมถึง 7-10 เท่า แต่ก็มีธุรกิจและร้านค้าในญี่ปุ่นต่างก็ให้ความสนใจซื้อไปบริการลูกค้าแล้วจำนวนมาก

 

          จากกรณีตัวอย่างดังกล่าวข้างต้น ทำให้เห็นว่า กระแสของนวัตกรรมรักษ์โลก หรือเศรษฐกิจสีเขียว หรือธุรกิจแบบใหม่ที่เน้นการตลาดแบบโลกสวยยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องขึ้นเรื่อย ๆ โดยจากผลการวิจัยในงานวิจัยการตลาดโลกสวย  Voice of Green: เพื่อโลก ของวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล หรือ CMMU ได้จัดกลุ่มผู้บริโภคได้เป็น 4 ประเภท กล่าวคือ

  1. สายกรีนตัวแม่ ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความตั้งใจทำทุกอย่าง และยินดีจ่ายแพงขึ้นเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม มีจำนวน 37.6%
  2. สายกรีนตามกระแส กลุ่มที่มีพฤติกรรมตามกระแสการใช้สินค้าอีโค่ แต่ยังขาดทัศนคติในด้านความต้องการเปลี่ยนแปลงเพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้นในระยะยาว มีจำนวน 20.8%
  3. สายสะดวกกรีน ผู้บริโภคกลุ่มนี้มีความเข้าใจเรื่องความจำเป็นในการปกป้องสิ่งแวดล้อม แต่ยังมีพฤติกรรมที่เคยชินกับการบริโภคแบบเดิม ๆ และยังไม่มีความกระตือรือร้นในการปรับเปลี่ยน มีจำนวน 15.7%
  4. สายโนกรีน ยังไม่พร้อมใช้จ่ายเพื่อสิ่งแวดล้อม และยังไม่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค เพราะมองว่าเป็นเรื่องยุ่งยาก มีจำนวน 26.0%

          นอกจากนี้ พบว่า 4 เทรนด์ธุรกิจรักษ์โลกมาแรง ได้แก่ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบย่อยสลายง่ายและกลับมาใช้ซ้ำ สินค้าหรือบริการที่ใช้พลังงานสะอาด สินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และสินค้าอีโค่มีดีไซน์ตอบสนองคนรุ่นใหม่

  • กลยุทธ์ ENVI กระตุ้นให้ผู้บริโภคตระหนักถึงสิ่งแวดล้อม

          กลยุทธ์ ENVI เป็นการทำการตลาดโลกสวย ที่จะช่วยทำให้กลุ่มผู้บริโภคสายโนกรีน และสายสะดวกกรีน ตระหนักถึงการบริโภคที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ประกอบด้วย

E: Early

ปลูกฝังจิตสำนึกให้คนรุ่นใหม่

สำหรับผู้บริโภคกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ยังไม่ค่อยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสิ่งแวดล้อม ภาครัฐ และองค์กรธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญกับการปลูกฝังเรื่องสิ่งแวดล้อมให้ผู้บริโภคในกลุ่มนี้

N: Now or Never

ปัญหาสิ่งแวดล้อมควรแก้ไขทันที

เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติผู้บริโภคที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมน้อย นักการตลาดจึงควรให้ความสำคัญกับการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ

V: Viral

สื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง

นักการตลาดควรใช้โซเชียลมีเดียเพื่อการสื่อสารปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างทั่วถึง และแพร่หลาย

I: Innovative

ใช้นวัตกรรมในการผลิตเพื่อสิ่งแวดล้อม

การดึงนวัตกรรมมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน อาทิ การใช้วัตถุดิบสำหรับอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติอนุรักษ์มากขึ้น การใช้ระบบดิจิทัลในการผลิต เป็นต้น



  • ภาพลักษณ์นวัตกรรม 7 ด้าน

          ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า Innovation Thailand เป็นแคมเปญที่ NIA ริเริ่มขึ้นเพื่อชวนคนไทยให้มารู้จักและร่วมภาคภูมิใจกับนวัตกรรมฝีมือคนไทย รวมทั้งเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ใหม่ของประเทศไทยที่มีความโดดเด่นด้านนวัตกรรม โดยเฉพาะนวัตกรรมที่ตอบโจทย์การใช้ชีวิตที่ดีขึ้น ช่วยทำให้มีความสุข สะดวกสบาย และมีความประณีต ซึ่งเป็นอัตลักษณ์ด้านนวัตกรรมของประเทศไทย

          สำหรับนวัตกรรมเพื่อการใช้ชีวิตที่ดีขึ้นหรือที่เรียกว่า Innovation for Crafted Living ทาง NIA ได้แบ่งออกได้เป็น 7 หมวด ดังนี้

          1) Healthy Living นวัตกรรมเพื่อสุขภาพดีที่ไม่ใช่แค่การดูแลรักษาแต่รวมไปถึงการป้องกัน

          2) Easy Living นวัตกรรมเพื่อให้ผู้สูงวัย คนพิการ หรือผู้ที่ด้อยโอกาส ใช้ชีวิตได้ง่ายขึ้นและเท่าเทียมกับคนปกติแบบไร้รอยต่อ

          3) Smart Living นวัตกรรมเพื่อโลกและสิ่งแวดล้อม นับตั้งแต่แหล่งพลังงานสะอาด การกำจัดขยะ ลดมลพิษ และคิดเผื่อเพื่อสิ่งแวดล้อมตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Bio-Circular-Green Economy)

          4) Connected Living นวัตกรรมที่เชื่อมโยงผู้ที่สนใจเรื่องเดียวกัน สร้างเป็นเครือข่ายด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยลดช่องว่างทางความคิด

          5) Safe Living นวัตกรรมเพื่อชีวิตและทรัพย์สินปลอดภัย ครอบคลุมทุกมิติในการใช้ชีวิตทั้งในบ้านและนอกบ้าน

          6) Wealthy Living นวัตกรรมที่สร้างโอกาสและอาชีพใหม่ ๆ ที่เลี้ยงตัวเองได้ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

          7) Happy Living นวัตกรรมด้านการท่องเที่ยว ดนตรี และสันทนาการ เพื่อทำให้ชีวิตผ่อนคลายและมีความสุข

“การสร้างภาพลักษณ์ใหม่ให้ประเทศไทยเป็น “ประเทศแห่งนวัตกรรม” เป็นหน้าที่ของคนไทยที่จะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ซึ่งแคมเปญ Innovation Thailand นี้ NIA ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากตัวแทนคนไทยด้านนวัตกรรม 7 คน มาร่วมกันสื่อสารสร้างการรับรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมทั้ง 7 ด้าน ผ่านคลิปวิดีทัศน์

  • กรณีตัวอย่างผลิตภัณฑ์/ผลงานจากนวัตกรรมรักษ์โลก

          เนื่องจากมีผลิตภัณฑ์/ผลงานอันเป็นนวัตกรรมรักษ์โลกเกิดขึ้นมากมาย จึงขอหยิบยกมาเพียงบางส่วนที่คิดว่าน่าสนใจ เพื่อเป็นกรณีตัวอย่างดังต่อไปนี้

 

- “หลอดชานอ้อย” ผลิตภัณฑ์รักษ์โลก คุณภาพสูง

          นายณัฎฐปัญญ์ ศิริวิริยะกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTIS ผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า กลุ่ม KTIS เป็นผู้ผลิตรายแรกและรายเดียวในประเทศไทย โดยมีกำลังการผลิตในช่วงเริ่มต้น 500,000 หลอดต่อวัน และสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีกหากมีปริมาณความต้องการสูง โดยตั้งเป้ายอดขายไว้ที่ 30 ล้านหลอดต่อปี ซึ่งการที่กลุ่ม KTIS เป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลแบบครบวงจร ตั้งแต่ส่งเสริมการปลูกอ้อย หีบอ้อย ผลิตเยื่อชานอ้อย และนำเยื่อชานอ้อยมาผลิตเป็นหลอดชานอ้อย จึงมั่นใจได้ว่าจะไม่ขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิตหลอดชานอ้อยอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นจุดแข็งในการนำเสนอผลิตภัณฑ์หลอดชานอ้อยให้กับผู้ประกอบการที่ต้องการใช้หลอดชานอ้อยจำนวนมาก

          “หลอดชานอ้อยจะต่างจากหลอดกระดาษทั่วไป ตรงที่ไม่เปื่อยยุ่ยง่ายแม้จะแช่ในน้ำเป็นชั่วโมง ไม่มีสารเคมีปนเปื้อน จึงปลอดภัย 100% สำหรับการบริโภค และการใช้ชานอ้อยจากกระบวนการหีบอ้อยของกลุ่ม KTIS ทำให้ช่วยลดการตัดไม้มาทำเยื่อกระดาษหรือหลอดกระดาษอีกด้วย หลอดชานอ้อยจึงเป็นผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อผู้บริโภคและต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง”

- บรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร

          เอกา โกลบอล หนึ่งในผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร ได้มองเทรนด์ของผู้บริโภคปัจจุบัน ให้ความสำคัญ ใส่ใจและเน้นเรื่องความปลอดภัยของอาหารมากขึ้น จึงคิดค้นและพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหารใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด โดยล่าสุดได้หันมาพัฒนานวัตกรรมบรรจุแบบดัดแปรบรรยากาศ Modified Atmosphere Packaging Process หรือ MAP ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีการถนอมอาหาร เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาอาหารสด หรืออาหารที่แปรรูปขั้นต่ำ เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีการผลิตอาหาร เพื่อชะลอการเน่าเสีย ด้วยการลดปริมาณออกซิเจนลง และเติม CO2, N2 เข้าไปแทนที่อากาศ มาใช้กับบรรจุภัณฑ์ยืดอายุอาหาร ทำให้สามารถควบคุมและคงสภาวะแวดล้อมภายในห่อ ทำให้อาหารคงความสดและคุณค่าทางโภชนาการไว้ได้ตลอดเส้นทางการขนส่ง และมีอายุอยู่บนชั้นวางได้นานที่สุด นำมาซึ่งโอกาสทางธุรกิจที่เพิ่มสูงขึ้น และยังสามารถลดต้นทุน รวมถึงโอกาสในการขยายตลาดออกสู่ต่างจังหวัดและต่างประเทศได้

- Up cycling ซองกาแฟเนสท์เล่

          เนสท์เล่ระดับโลกมีพันธกิจในด้านการสร้างความยั่งยืน ซึ่งการจัดการขยะพลาสติกเป็นสิ่งที่ได้ให้ความสำคัญสูงสุด โดยมุ่งเน้นให้นำไปรีไซเคิลได้ 100% ภายในปี 2565 และจากนวัตกรรมซอง Mono Structure ได้รับการออกแบบให้ทำหน้าที่เหมือนกับซองกาแฟปัจจุบันมากที่สุด เพื่อกักเก็บรสชาติ กลิ่นหอม และความสดใหม่ของผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ในซองจนกว่าจะถึงมือผู้บริโภค ซึ่งข้อดีที่แตกต่างคือ ซอง Mono Structure สามารถนำไปรีไซเคิลได้ โดยต้องมีการคัดแยกขยะอย่างถูกต้อง

          แคมเปญของเนสกาแฟ เดย์ ในปีนี้ที่มาพร้อมคอนเซปต์ เชื่อมทุกความผูกพัน ชงเพื่อความยั่งยืน ได้ชวนคอกาแฟทั่วประเทศมาร่วมรักษ์โลก ผ่านการโชว์เคสไอเดียการอัพไซคลิ่งบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด ด้วยการนำซองผลิตภัณฑ์เนสกาแฟ เบลนด์ แอนด์ บรู ที่คอกาแฟส่งมาร่วมชิงโชคทุกปีกว่า 100 ล้านซอง มาเพิ่มมูลค่าด้วยการอัพไซคลิ่งเป็นวัสดุรักษ์โลกอย่างไม้เทียม (Wood Plastic Composite-WPC) สำหรับทำเป็นโต๊ะอาหารเพื่อมอบให้กับโรงเรียนทั่วประเทศ 100 แห่ง พร้อมกับนำไปใช้ตกแต่งเนสกาแฟฮับ 7 สาขา ส่วนเนสกาแฟกระป๋องพร้อมดื่มนั้น เราได้จัดการประกวดสร้างสรรค์ไอเทมใหม่จากการนำกระป๋องอลูมิเนียมไปรีไซเคิล ได้ร่วมมือกับอาจารย์วิทยาลัยสารพัดช่างระยอง นำกระป๋องอลูมิเนียมใช้แล้วมาสร้าง Prototype หุ่นยนต์วัดอุณหภูมิร่างกายที่สามารถแจกตัวอย่างเครื่องดื่มได้

- บรารักษ์โลก / สีคราม เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

          นายนาวิน ก้อนนาค นักศึกษาคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอและออกแบบแฟชั่น มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร คว้ารางวัลชนะเลิศ ผลงานด้านนวัตกรรม เรื่อง Indigo Intimacy หรือการย้อมสีผ้าพอลิเอไมด์ผสมอีลาสเทนด้วยสีครามจากธรรมชาติและการประยุกต์สำหรับผลิตชุดชั้นในสตรี จากการประกวดแข่งขันผลงานสหกิจศึกษาดีเด่นด้านนวัตกรรม ระดับเครือข่ายภาคกลางตอนล่าง ณ มหาวิทยาลัยสยาม

          พบว่า เส้นใยดังกล่าวสามารถย้อมติดด้วยสีครามจากธรรมชาติได้ และผ้าที่ผ่านการย้อมสีจะมีสมบัติความคงทนของสีอยู่ในระดับที่ดีจนถึงดีมาก โดยเฉพาะในเรื่องความคงทนของสีต่อคลอรีนในสระว่ายน้ำ น้ำทะเล น้ำ แสง เหงื่อ และซักล้าง ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการแนะนำจาก ผศ.รัตนพล มงคลรัตนาสิทธิ์ อาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ และช่วยจัดหาวัสดุ อุปกรณ์ สารเคมี และสีครามธรรมชาติ ในการใช้ย้อมสีครามธรรมชาติตลอดจนให้ความรู้เรื่องของกระบวนการและวิธีการย้อมต่าง ๆ และให้คำแนะนำการทดสอบคุณภาพมาตรฐานความคงทนของสี และความแข็งแรงของวัสดุ อย่างไรก็ตาม ผลงานดังกล่าวจะถูกนำไปประยุกต์ใช้สำหรับผลิตชุดชั้นในสตรีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ผ่านผลิตภัณฑ์ ECO Bra หรือ บรารักษ์โลก ผลิตโดยบริษัทไทยวาโก้ จำกัด (มหาชน)

- ชุดยูนิฟอร์ม “ดิจิทัลรักษ์โลก”

          ทรู สร้างสรรค์นวัตกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ภายใต้แนวคิด “From Waste to Wear” เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 100% เปลี่ยนขยะที่ไม่ใช้แล้วให้เป็นชุดที่สวมใส่สบายแบบอีโคแฟชั่น รวมถึงเข็มกลัดอัจฉริยะที่ใช้พนักงานเป็นสื่อกลางเสมือนเป็นสื่ออัจฉริยะ ให้ข้อมูลหรือสิทธิประโยชน์แก่ลูกค้า เพียงสแกนผ่านแอปพลิเคชั่น True5G AR และใช้ถุงกระดาษคราฟท์รีไซเคิลแทนถุงพลาสติกเดิม

- กลยุทธ์ “สวยโลกไม่เสีย” ด้วยวิธีการลดขยะ ลดสารเคมีอันตราย และรีไซเคิลได้

          อีฟ โรเช่ (Yves Rocher) ผลิตภัณฑ์เสริมความงามอันดับ 1 จากประเทศฝรั่งเศส ตอนนี้มีการเปลี่ยนโฉมแบรนด์ครั้งใหญ่ในรอบ 60 ปี ด้วยการปรับภาพลักษณ์ให้ดูแอคทีฟเพื่อดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่และขยายฐานลูกค้าในวงกว้างมากขึ้น โดยใช้แพ็กเกจจิ้งที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดห่วงโซ่อุปทาน ด้วยกลยุทธ์แบรนด์ที่เน้น “สวยโลกไม่เสีย” ไม่ใช่พูดเพื่อให้ดูดีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แต่เป็นการดำเนินกลยุทธ์แบรนด์ อย่างเดือนตุลาคมนี้ที่ผ่านมา อีฟ โรเช่เป็นแบรนด์แรกในตลาดที่ 100% ของสินค้าทำมาจากพลาสติกรีไซเคิล สามารถนำไปรีไซเคิลต่อได้ 100% ซึ่งนอกจากเป็นการลดใช้พลาสติกแล้ว ยังมีการลดใช้สารต่าง ๆ ในสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมให้เป็นคลีนฟอมูลล่า และลดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากโรงงานผลิตให้มากขึ้นทุกปี

          วิลาสินี ภาณุรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด อีฟ โรเช่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้กล่าวว่า “ในปีหน้าเราจะมีอีกหลาย ๆ กิจกรรมออกมาอย่างต่อเนื่องแน่นอน เช่น การเปิดบริการรีฟิลเติมสินค้าที่ร้าน เพื่อลดการใช้บรรจุภัณฑ์ให้ใช้ซ้ำได้ หรือการเลิกใช้พลาสติก Wrap ทั้งหมด ทำให้ลดการใช้พลาสติกไปได้ถึง 35 ตันต่อปี และการใช้ Cardboard Box รุ่นใหม่ ที่เป็น Recycle Paper ซึ่งมาจาก Sustainability Forest รวมถึงป้ายต่าง ๆ ในร้านที่จะเอาพลาสติกออกทั้งหมด”

          จากกรณีตัวอย่างผลิตภัณฑ์/ผลงานที่เป็นนวัตกรรมรักษ์โลกทั้งหมดนั้น ทำให้เห็นได้ว่า “รักษ์โลก” ไม่ได้เป็นเพียงแต่กระแสที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปเท่านั้น แต่ยังคงเป็นสิ่งที่สังคมโลกปัจจุบันยังคงให้ความสำคัญได้ต่อไปเรื่อย ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าติดตามว่า กระแสรักษ์โลกจะดำเนินไปได้ในรูปแบบไหนต่อไป จะมีสิ่งใหม่ ๆ ใดออกมาอีกบ้าง และกลุ่มคนที่ยังไม่ได้มีการตระหนักเรื่องนี้มากนัก ผลิตภัณฑ์/ผลงานทางนวัตกรรมต่าง ๆ จะสามารถเข้าถึงเพื่อไปปรับเปลี่ยนหรือมีอิทธิพลต่อไปได้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด


อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ นวัตกรรมรักษ์โลก เพิ่มเติมได้ที่ :

เดลินิวส์. 2563. กลุ่มทรูอวดโฉม “ยูนิฟอร์มดิจิทัลรักษ์โลก”. สืบค้นจาก https://www.dailynews.co.th/

       article/800208 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

ไทยโพสต์. 2563. มหิดลปรับพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ปลอดภัยCovid-19ด้วยนวัตกรรมhi-tech. สืบค้นจาก

       https://www.thaipost.net/main/detail/79220 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563.

ไทยรัฐออนไลน์. 2563. นวัตกรรมอาหารเพื่อโลก. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/news/ local/

       1916364 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563.

ไทยรัฐออนไลน์. 2563. เนสกาแฟ นำเทรนด์นวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ Mono Structure รีไซเคิลได้ 100%. สืบค้นจาก

       https://www.thairath.co.th/news/business/market-business/1950036 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

สยามรัฐออนไลน์. 2563. กลุ่ม KTIS รุกนวัตกรรมผลิตหลอดชานอ้อย ชูผลิตภัณฑ์รักษ์โลกที่มีคุณภาพสูง. สืบค้นจาก 

       https://siamrath.co.th/n/189451 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

สยามรัฐออนไลน์. 2563. “มทร.พระนคร” ไอเดียเจ๋ง! บรารักษ์โลก คว้ารางวัลนวัตกรรมสหกิจศึกษาดีเด่น. สืบค้นจาก

       https://siamrath.co.th/n/188291 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

บุญช่วย ค้ายาดี. 2563. นวัตกรรมรักษ์สิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก https://www.thaipost.net/main/detail/78279

       เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

Arty Siriluck (นามแฝง). 2563. นวัตกรรมรักษ์โลก! ญี่ปุ่นพัฒนา “ถุงพลาสติกย่อยสลายในทะเล” ได้ภายใน 180 วัน

       สำเร็จเเล้ว. สืบค้นจาก https://positioningmag.com/1261923 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

MGRONLINE. 2563. ‘อีฟ โรเช่’ พลิกโฉมสู่แบรนด์บิวตี้รักษ์โลก!! ด้วยกลยุทธ์ “สวยโลกไม่เสีย”. สืบค้นจาก

       https://mgronline.com/greeninnovation/detail/9630000104561 เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

N.Rotchana (นามแฝง). (2020). สู่ยุคใหม่โลกธุรกิจ จับตา “การตลาดโลกสวย” รับมืออย่างไรในวันที่ผู้บริโภคตื่นตัว

       เรื่องสิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก https://www.brandage.com/article/16652/Voice-of-Green

       เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563.

THEREPORTERASIA. 2563.  NIA ดึง 7 ตัวแทนนวัตกรรมไทย สร้างความภูมิใจ. สืบค้นจาก 

       https://www.thereporter.asia/th/2020/10/20/nia-3/  เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2563.

D'Adamo, I. and R., Paolo. (2020). How Do You See Infrastructure? Green Energy to Provide

       Economic Growth after COVID-19. Sustainability, 12 (11), 4738-4740. doi: 10.3390/su12114738

Yin, L. and Z., Xiangqian. 2020. Green and Quality Development of Service Industry in West Coast

       Economic Zone. Journal of Coastal Research, 103 (Special Issue), 1158-1162.

       doi: 10.2112/SI103-242.1.

Ciobanu, G.; Gole, I.; Balu, O. F.; Popescu, I.; Vasilache, M. and P. Cristian. (2020). Development of the

       Green Economy and the Creation of Green Objectives through Digital Networks. Review of

       International Comparative Management, 21 (3), 401-411. doi: 10.24818/RMCI.2020.3.401.


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri