Food Allergy and Food Intolerance – ความเข้าใจใหม่และการคาดการณ์หลังปี 2020

นางชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

            ที่ผ่านมา โรคภูมิแพ้ หรืออาการแพ้ต่าง ๆ นั้น ยังเป็นเรื่องในมุมไม่กว้างมากนัก หลายคนมองว่าเป็นเรื่องเล็กของกลุ่มคนเล็ก ๆ เพียงเท่านั้น แต่นับจากสถานการณ์ต่าง ๆ ของโลกค่อย ๆ เปลี่ยนแปลงไป กอปรกับเป็นผลจากการที่โลกเปิดกว้างมากขึ้น ผู้คนได้ติดต่อ เชื่อมโยง รับรู้ข่าวสารกันได้ง่ายดายมากขึ้น ทำให้พบว่า มีผู้คนที่เป็นโรคภูมิแพ้ หรือมีอาการแพ้จากสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมีมากและค่อย ๆ ปรากฏเพิ่มมากขึ้น และยังมีความเข้าใจผิดกันในหลายประเด็น เช่น ภูมิแพ้นับว่าเป็นโรค หรือเป็นเพียงอาการในคนบางกลุ่มเท่านั้น ความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้กับโรคภูมิแพ้อาหารแฝง หรือแม้แต่การแพ้แบบแฝงเป็นอย่างไร มีจริงหรือไม่ แบบใดจึงควรได้รับการตรวจหรือแบบใดที่ไม่จำเป็น รวมไปถึงมุมมองต่อโรคภูมิแพ้ว่าจะมีโอกาสหายหรือไม่ มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรในอนาคต สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจในยุคใหม่ เนื่องจากเป็นเรื่องใกล้ตัวและมีปรากฏขึ้นมาอย่างมากมาย โดยที่คนส่วนใหญ่อาจยังไม่ได้รับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง จึงนำไปสู่การปฏิบัติตัวที่ผิด ๆ และส่งผลถึงการแนะนำรวมถึงการดูแลคนรอบข้างหรือผู้ป่วยที่ผิดไปด้วย

 

Skin Prick


ที่มาภาพ
: www.elan-medical-clinic.co.uk/blog/allergy-tests-waste-money/

 

            ซึ่งจากที่หลายคนทราบว่า ในปัจจุบันยังไม่มีการรักษาการแพ้อาหารใดที่ยืนยันว่าจะทำให้โรคหายขาดได้ ฉะนั้นในเบื้องต้นสิ่งที่ผู้แพ้อาหารควรทำนั้นคือการเรียนรู้กับอาการแพ้ของตนเอง ให้แพทย์วินิจฉัยว่าเราแพ้อาหารชนิดใดแล้วพยายามหลีกเลี่ยงไม่รับประทานอาหารชนิดนั้น รวมไปถึงการอ่านรายละเอียดส่วนผสมที่ฉลากอาหารก่อนซื้ออย่างถี่ถ้วน โดยให้ยึดคติว่ากันไว้ดีกว่าแก้แน่นอน แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่น่าสนใจ โดยขอรวบรวมโดยสรุปมาไว้ดังนี้

 

  • อาหารฟรีฟรอม (Free-From) ก้าวสู่เทรนด์อาหารยุค 2021 เตรียมยกงานแสดงสินค้าชื่อดัง จากยุโรปสู่เอเชียมีนาคมปี 2021

            ปัจจุบันพฤติกรรมของผู้บริโภคในประเทศแถบยุโรปมีการเลี่ยงอาหารแปรรูปและหันมาใส่ใจอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ และยังมองหาผลิตภัณฑ์ที่มาจากธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นอาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic) อาหารปราศจากสารปรุงแต่ง (Free From) อาหารฟังก์ชั่น (Functional food) รวมไปถึงเครื่องดื่มเสริมอาหาร (Better-for-You beverages) จึงทำให้เทรนด์อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา นำมาสู่การเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอาทิ วีแกน อาหารปราศจากสารกลูเตนหรือแลคโตส อาหารปราศจากน้ำมันปาล์ม หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่ผ่านการดัดแปลงพันธุกรรม (NON GMO) ทำให้บริษัทผู้ผลิตอาหารขยายฐานผลิตภัณฑ์มายังอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ และเป็นผลให้เกิดการริเริ่มจัดงาน Free From Food Expo ในประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปงาน Free From Food Expo ได้รับความสนใจและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี เทรนด์อาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพไม่ได้จำกัดเฉพาะในยุโรปเท่านั้น แต่ยังแพร่หลายมายังเอเชีย กลุ่มผู้บริโภคและผู้ผลิตมากมายจากประเทศต่าง ๆ ในเอเชียหันมาให้ความสำคัญกับการบริโภคอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ เช่นเดียวกับทางผู้จัดงานแสดงสินค้าอย่าง วีเอ็นยู เอเชีย แปซิฟิค จึงนำมาสู่การร่วมมือกันระหว่าง วีเอ็นยูฯ และ EBC Expo ที่จะนำงาน Free From Food จากยุโรปสู่เอเชียเป็นครั้งแรก โดยเลือกกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางการจัดงาน โดยมีกำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 10 - 12 มีนาคม 2564 พร้อมกันกับ VIV Asia งานแสดงเทคโนโลยีและเครื่องมือสำหรับอุตสาหกรรมปศุสัตว์ ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์จนถึงอาหารเพื่อการบริโภค ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่และสำคัญระดับเอเชีย ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี ทั้งนี้ การที่เลือกประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการจัดงาน เนื่องด้วยสถานที่จัดงานที่ได้มาตรฐานและสนามบินระหว่างประเทศที่อำนวยความสะดวกในการเดินทางสู่กรุงเทพฯ เวทีเจรจาธุรกิจนี้จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้ประกอบการและผู้เข้าชมงานทั้งจากในประเทศไทย และนานาประเทศเพื่อส่งเสริมการพัฒนาธุรกิจระหว่างผู้จัดหา ผู้ผลิต ตัวแทนจำหน่าย และผู้ซื้อสำหรับธุรกิจอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพ

            จากรายงานของ EUROMONITOR พบว่า ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากแลคโตส นม และกลูเตน เป็นธุรกิจที่มีศักยภาพสูงที่สุดในตลาด นับเป็นอนาคตที่สดใสของอุตสาหกรรมอาหารฟรีฟรอม (Free From) เทรนด์ของธุรกิจอาหารเพื่อสุขภาพไม่ได้ได้รับความนิยมเฉพาะในตลาดยุโรปเท่านั้น แต่ครอบคลุมไปทั่วโลกรวมทั้งภูมิภาคเอเชีย ซึ่งเป็นทวีปที่มีประชากรมากถึง 4.6 พันล้านคน (สถิติประจำเดือนพฤษภาคม 2563 ขององค์กรสหประชาชาติ) และข้อมูลเหล่านี้คือเหตุผลหลักที่ผู้จัดได้เลือกนำงาน Free From Food Asia 2021 มาจัดเป็นครั้งแรกสำหรับภูมิภาคเอเชียในปี พ.ศ. 2564

            แนวคิดในการจัดงาน Free From Food Asia มองว่า เป็นงานแสดงสินค้าและสัมมนาสำหรับอุตสาหกรรมอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพครั้งแรกในเอเชีย ที่มุ่งเน้นอาหารที่ปราศจากสารปรุงแต่ง (Free From) อาหารเกษตรอินทรีย์ (Organic) อาหารวีแกน (Vegan) อาหารฟังก์ชั่น (Functional Food) และส่วนผสมอาหารจากธรรมชาติ (Natural Ingredients) ซึ่งเป็นงานเฉพาะทางเพื่อกลุ่มเป้าหมายที่ตรงธุรกิจเพื่อเจาะตลาดกลุ่มผู้ซื้อจากทั้งร้านค้าปลีก ตัวแทนจำหน่าย ไปจนถึง ผู้ผลิตอาหาร อื่นๆ ทั้งในกลุ่มลูกค้าแถบตะวันออกกลางและอาเซียน

            งาน Free From Food Asia จะเป็นเวทีเจรจาธุรกิจแห่งใหม่สำหรับคนในอุตสาหกรรมอาหารทางเลือกเพื่อสุขภาพที่สร้างมาเพื่อการจับคู่ผู้ผลิตกับกลุ่มผู้ซื้อทั่วโลกที่กำลังมองหาช่องทางการทำธุรกิจในอุตสาหกรรม

 

  • เหตุใดคนทั่วโลกเสี่ยง 'แพ้อาหาร' เพิ่มมากขึ้น

            โรคใกล้ตัวที่น่าเป็นห่วงในอนาคตคือ โรคแพ้อาหารที่มีความสูงถึงขั้นเสียชีวิต กำลังมีอัตราเพิ่มขึ้นกับคนทั่วโลกอย่างรวดเร็ว มีข้อมูลการเข้ารักษาในโรงพยาบาลประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุว่า ผู้คนมารักษาโรคแพ้อาหารเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากปี 2536 ถึง 2549 เช่นเดียวกับประเทศอังกฤษที่มีผู้คนเป็นโรคแพ้อาหารเพิ่มขึ้น 72% จาก 1,015 คนเป็น 1,746 คน โดยสรุปก็คือ อัตราการแพ้อาหารทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากปี 2503 ที่มีเพียง 3% ขยายตัวเป็น 7% ในปี 2561

            Graham Rook ศาสตราจารย์ด้านจุลชีววิทยาทางการแพทย์ของมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ได้กล่าวว่า “การแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้น กำลังกลายเป็นภาวะที่หน่วยงานสาธารณสุขทั่วโลกต้องให้ความสนใจ เพราะอีกไม่กี่ปีข้างหน้า โรคแพ้อาหารอาจกลายเป็นวิกฤติ”

เพราะอะไรการแพ้อาหารจึงเพิ่มสูงขึ้น

            Kari Nadeau ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด กล่าวว่า คนจำนวนมากถึง 1 ใน 3 คิดว่าตัวเองแพ้อาหาร แต่ในความเป็นจริงไม่ได้ไปตรวจหรือรักษาทางการแพทย์อย่างจริงจัง จึงทำให้สถิติการแพ้อาหารจากการสอบถามนั้นเชื่อถือไม่ค่อยได้ ในขณะเดียวกันหลายประเทศก็ไม่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับการแพ้อาหารของคนในประเทศ

 

            ขณะเดียวกัน Peter Ben Embarek จากองค์การอนามัยโลกก็กล่าวด้วยเช่นกันว่า “อาหารที่มนุษย์แพ้มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ในอดีตเมื่อ 10 ปีก่อนมีเพียงแค่ อาหารทะเล นม และถั่วเท่านั้น”

            ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้มีความเห็นว่า อาจเพราะเกิดจากสมมติฐานด้านสุขอนามัย ที่แปลว่า ยิ่งเราทำความสะอาดมากเท่าไรเราก็ยิ่งมีโอกาสแพ้มากขึ้นเท่านั้น

            แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่พูดถึงการแพ้อาหารที่เพิ่มขึ้น เช่น การมีพี่น้องหลายคนสามารถลดอัตราความเสี่ยงการแพ้อาหาร หรือแม้แต่ทารกที่คลอดโดยการผ่าตัดคลอดจะมีอัตราการการแพ้อาหารเพิ่มขึ้นเพราะทารกไม่ได้กินแบคทีเรียในช่องคลอด

            ถึงแม้ว่าผู้เชี่ยวชาญจะมีทฤษฎีสันนิษฐานแตกต่างกันอย่างไร แต่ทุกคนก็ลงความเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของปรากฏการณ์ “แพ้อาหาร” ทั่วโลก แสดงถึงความล้มเหลวของกลไกการควบคุมของระบบภูมิคุ้มกันทั่วโลกเช่นกัน

 

อาการของโรคแพ้อาหาร

ในผู้ที่แพ้อาหารจะแสดงอาการได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เป็นผื่นตามตัว ท้องเสีย หายใจลำบาก ไปจนถึงขั้นเสียชีวิต โดยจะเกิดขึ้นช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับร่างกายของแต่ละบุคคล  โดยหลัก ๆ ปฏิกิริยาอาการแพ้อาหาร (Food Allergy) แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ

  1. ชนิดไม่เฉียบพลัน (Non – IgE – Mediated Food Allergy) เป็นกลุ่มที่มีอาการแบบล่าช้า ค่อย ๆ ปรากฏอาการหลายชั่วโมงหรือเป็นวัน หลังจากรับประทานอาหารเข้าไปแล้ว เช่น ผื่นเรื้อรัง โดยจะมีผื่นแดง คัน แห้ง ในเด็กมักจะเป็นบริเวณที่แก้มหรือข้อพับ ถ้าเป็นอาการที่ระบบทางเดินอาหาร เมื่อได้รับอาหารที่แพ้อาจถ่ายเป็นมูกเลือด อาเจียน และถ่ายเหลวรุนแรง
  2. ชนิดเฉียบพลัน (IgE – Mediated Food Allergy) มีอาการตาบวม ปากบวม ผื่นลมพิษ หลอดลมตีบ ไอ แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ปวดท้อง อาเจียน โดยอาการจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที – 1 ชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหาร และมีโอกาสเสี่ยงที่จะเกิดอาการแพ้รุนแรงได้
  3. ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) เป็นอาการแพ้ในระดับรุนแรงที่สุดและเป็นอันตรายถึงชีวิต อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ ผื่นแดงตามผิวหนัง ลมพิษ คัน ผิวหนังแดงหรือซีด วิงเวียนศีรษะ หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง หรือท้องเสีย

ของกินที่ผู้คนมักเกิดอาการ “แพ้อาหาร” มากที่สุด

ร่างกายของแต่ละคนจะมีปฏิกิริยาตอบสนองและแพ้ต่อสารอาหารที่ต่างกันไป แต่อาหาร 5 ประเภทนี้คืออาหารที่คนแพ้กันมากที่สุด

  1. นมวัว

            นมวัวคืออาหารที่พบว่าเกิดอาหารแพ้มากโดยเฉพาะในทารกและเด็กเล็ก โปรตีนในนมวัวที่ทำให้เกิดการแพ้ได้มี 2 ชนิดหลัก คือ โปรตีนเคซีนที่พบได้จากนมในส่วนที่เป็นไขนมข้นแข็งและโปรตีนเวย์ซึ่งพบในส่วนที่เป็นของเหลวหลังจากนมจับตัวเป็นไขแล้ว อาหารการแพ้นมวัวนั้นส่วนใหญ่ที่หายได้เมื่ออายุถึงประมาณ 6 ขวบ ส่วนคนที่แพ้นมวัวตลอดชีวิตนั้นมีเพียง 1% จากผู้แพ้ทั้งหมดเท่านั้น

  1. ไข่

            ไม่น่าเชื่อว่าอาหารยอดนิยมอย่าง “ไข่” จะมีผู้แพ้อยู่ไม่น้อย ไข่เป็นอีกหนึ่งอาหารที่มักพบการแพ้มากในเด็กและทารก อาการแพ้ไข่มักเกิดจากการแพ้โปรตีนในไข่ขาว แต่สามารถหายได้เมื่อโตขึ้นคล้าย ๆ กับอาการแพ้นม ซึ่งมีเปอร์เซ็นต์การหายแพ้อยู่ที่ 68% เมื่ออายุ 16 ปีขึ้นไป

  1. ถั่วเหลือง

            ถั่วเหลืองเป็นอีกหนึ่งอาการที่พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กอายุไม่เกิน 3 ปี มักเกิดจากการแพ้โปรตีนที่เมล็ดถั่วเหลืองเก็บสะสมไว้เป็นอาหารเพื่อการเจริญเติบโตของเมล็ดถั่วเอง และอาจเกิดจากการกินนมถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษของแม่ในช่วงตั้งครรภ์หรือให้นมลูกได้อีกด้วย

  1. แป้งสาลีและกลูเตน

            ช่วงนี้เรามักจะได้ยินสินค้าประเภท 'กลูเตนฟรี' อยู่บ่อย ๆ ซึ่งความมาแรงของสินค้าประเภทนี้มีความสัมพันธ์กับการแพ้แป้งสาลีที่พบมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการแพ้แป้งสาลีนั้นมักมีผลมาจากการแพ้ โปรตีนกลูเตน ที่อยู่ในแป้ง ซึ่งอาการแพ้กลูเตนสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศ ทุกวัย ในแต่ละวัยก็เกิดอาการค่อนข้างแตกต่างกัน

  1. อาหารทะเลเปลือกแข็ง

            การแพ้อาหารทะเลคือการแพ้ที่พบได้มากในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นการแพ้อาหารทะเลเปลือกแข็ง เช่น กุ้ง ปู หอย ซึ่งโปรตีนที่เป็นสารก่อภูมิแพ้สำคัญในสัตว์ทะเลเปลือกแข็ง คือ โปรตีนโทรโปไมโอซิน อาการแพ้อาหารทะเลมักจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาตั้งแต่หลายนาทีหรือเป็นชั่วโมง หลังจากรับประทานอาหารเข้าไป แต่ยังสามารถเกิดขึ้นจากการได้รับสารก่อภูมิแพ้สะสมตั้งแต่เด็ก บางคนจึงเพิ่งพบว่ามีอาการแพ้เมื่อโตขึ้น แม้ว่าแต่ก่อนจะเคยรับประทานได้ปกติด้วย

วิธีทดสอบการแพ้อาหาร

หากคุณไม่แน่ใจว่าแพ้อาหารชนิดนั้นจริงๆ หรือไม่ เราแนะนำให้ไปทดสอบการแพ้อาหารที่โรงพยาบาล ซึ่งปัจจุบันมีการทดสอบชนิดนี้อยู่แล้วในโรงพยาบาลทั่วโลก แต่ถึงอย่างนั้นอุปสรรคของการทดสอบการแพ้อาหาร คือค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง นี่จึงอาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมบางประเทศไม่มีฐานข้อมูลประชากรแพ้อาหารชัดเจน เพราะราคาแพง ผู้คนจึงนิยมไม่ไปตรวจ

วิธีทดสอบอาการแพ้อาหาร (Oral Food Challenge) เบื้องต้น ได้แก่

            การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Skin Prick Tests) ผู้ป่วยต้องไม่มีอาการเจ็บป่วยอย่างน้อย 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ และงดรับประทานยาแก้แพ้ 1 สัปดาห์ ก่อนวันที่ทำการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 15 – 20 นาที (ในกรณีที่มีอาการแพ้รุนแรงจะสามารถทดสอบได้หลังจากมีอาการ 1 เดือน)

การตรวจเลือด (Blood Test For Specific IgE) ไม่ต้องงดยาแก้แพ้ก่อนการทดสอบ เมื่อทดสอบแล้วสามารถทราบผลได้ภายใน 3 – 5 วันทำการ โดยมีทั้งผลเป็นบวกและลบ

          - ผลเป็นบวก แพทย์อาจให้งดหรืออาจให้ทำทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge) ตามความเหมาะสม (ในกรณีที่ผู้ป่วยแพ้อยู่ก่อนแล้วและต้องการรู้ว่าหายแพ้แล้วหรือไม่) และขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

          - ผลเป็นลบ อาจพิจารณาทำการทดสอบด้วยการรับประทานอาหาร (Oral Food Challenge)

 

  • ความแตกต่างระหว่าง อาการแพ้อาหาร (food allergies) กับ การรับอาหารบางชนิดไม่ได้(food intolerance)

            หลายครั้งที่เรามักสับสนระหว่าง อาการแพ้อาหาร (food allergies) กับ การรับอาหารบางชนิดไม่ได้ (food intolerance) ซึ่งการรับอาหารบางชนิดไม่ได้นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานใด ๆ แต่เกิดจากความบกพร่องของสารบางชนิดในร่างกาย ตัวอย่างของการรับอาหารบางชนิดไม่ได้ที่มักจะพบบ่อย เช่น

            ภาวะพร่องน้ำย่อยน้ำตาลนม ผู้ที่มีภาวะนี้เมื่อรับประทานผลิตภัณฑ์จากนมเข้าไป จะรู้สึกท้องอืด ปวดท้อง และอาจจะท้องเสีย การเลือกนมประเภท lactose-free ที่สกัดน้ำตาลนมออกไปก็ช่วยได้ หรือบางคนอาจมีปฏิกิริยาต่อสารปรุงแต่งรส อย่างเช่น การกินผงชูรสเข้าไป แล้วมีอาการร้อนซู่ซ่า ปวดศีรษะ เจ็บหน้าอก อ่อนแรงหรือหงุดหงิดได้ ก็เป็นอาการรับอาหารบางชนิดไม่ได้เช่นกัน

            อีกกรณีที่หลายคน 'เข้าใจผิด' ว่าอาการแน่นหน้าอก แสบร้อนที่ปาก จากการกินอาหารทะเล คือ การแพ้อาหาร แต่ที่จริงแล้วอาจจะเป็นปฏิกิริยาต่อสารฟอร์มาลีนที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารทะเลจากการขนส่งเพื่อยืดอายุความสด

            อีกหนึ่งอาการที่มีความใกล้เคียงการแพ้อาหาร คือ อาการอาหารเป็นพิษ ซึ่งอาการนี้เมื่อกินอาหารเข้าไปจะทำให้เราปวดท้องและอุจจาระร่วง ไปจนถึงระคายเคืองปอด และอาจจะเกิดการหดตัวของหลอดลมจนหอบได้ด้วย

วิธีสังเกตว่าเราเป็น “ภูมิแพ้อาหารแฝง” หรือไม่ ?

            การแพ้อาหารแบบแฝง หรือ Food Intolerance จะแสดงอาการแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงหากเทียบกับการแพ้อาหารแบบ Food Allergy โดยการแพ้อาหารแบบแฝงมักแสดงอาการหลากหลาย แต่ไม่รุนแรง มีอาการเรื้อรัง ไม่ทราบสาเหตุที่แท้จริงของอาการนั้น ๆ โดยการแพ้อาหารแบบแฝง ร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้ (Ig G) ซึ่งจะทำปฏิกิริยากับอาหารที่แพ้ทำลายเนื้อเยื่อของร่างกายเราเอง หรือไปรบกวนระบบภูมิต้านทานทั้งร่างกายจนแปรปรวน เนื่องจากร่างกายเข้าใจคลาดเคลื่อนคิดว่าผิดและเป็นสิ่งแปลกปลอมเข้ามา การแสดงอาการจึงเป็นแบบค่อยไปค่อยไปในระยะเวลา 4-5 วัน และเมื่อเราไม่ทราบยังคงรับประทานต่อร่างกายก็ยิ่งต่อต้านยิ่งกระตุ้นการสร้าง Ig G มากจนกำจัดออกไม่หมด ร่างกายก็จะโดน Ig G ทำลาย นำไปสู่การเกิดโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรง เช่น เบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคหัวใจ โรคอ้วน มะเร็ง

สาเหตุของการเกิดโรคภูมิแพ้อาหารแฝง

            นอกจากเกิดจากพันธุกรรมที่ร่างกายมีการสร้างระบบภูมิคุ้มกันต่อสารบางชนิดแล้วยังเกิดจากพฤติกรรมอย่างการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะ บ่กพร่องในภาวะโภชนาการ ได้รับสารพิษสารเคมี หรือยาต่าง ๆ ที่ทำให้ระบบขับถ่ายมีปัญหา ทำให้แบคทีเรียที่ไม่มีประโยชน์และยีสต์เพิ่มปริมาณมากขึ้นจนส่งผลให้ผนังลำไส้ไม่แข็งแรง จนนำไปสู่ระบบทางเดินอาหารผิดปกติและภาวะลำไส้รั่วหรือภาวะอักเสบในลำไส้เรื้อรังที่นำไปสู่การกระตุ้นอาการแพ้

วิธีสังเกตอาการเบื้องต้น

            เมื่อรับประทานอาหารบางชนิดหรือบางอย่างพบว่าบ่อยครั้งเรามักมีอาการ ท้องอืด ท้องผูก ท้องเฟ้อ รู้สึกอึดอัดจากลมและแก๊สในกระเพาะ ปวดท้อง ท้องเสีย ลำไส้แปรปรวน ทั้ง ๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีวี่แวว เกิดอาการ ปวดหัวเรื้อรัง ไมเกรน ครั่นเนื้อครั่นตัว รู้สึกไม่สบายตัวฉับพลัน มีอาการไอ จาม จมูกอักเสบ ไซนัสอักเสบ หอบหืด คัดจมูก ให้ทำการจดบันทึกแล้วนำไปลองเปรียบเทียบอาการหลังเลี่ยงการทานอาหารชนิดนั้นประมาณ 2-4 สัปดาห์ แล้วสังเกตว่าอาการดีขึ้นหรือไม่

            และท้ายที่สุดอย่างไรก็ตาม วิธีที่ดีที่สุดที่จะตรวจเช็คว่าเรามีอาการแพ้อาหารแฝงอย่างแม่นยำและถูกต้องนอกจากการสังเกตอาการร่วมคือ การส่งเลือดตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ Food Allergy IgG หรือ Food Intolerance Test เป็นการตรวจเลือดวัดระดับแอนติบอดีที่เพิ่มขึ้นเมื่อทานอาหารชนิดต่าง ๆ ซึ่งจะสะท้อนว่าร่างกายแพ้อาหารชนิดใดซึ่งจะรายงานผลการตรวจออกมาเป็นระดับการแพ้ต่ออาหารแต่ละรายการให้เราได้ป้องกันและหลีกเลี่ยงจากภัยแฝงต่าง ๆ ของโรคที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

          **นอกจากนี้ ยังมีกระแสอีกด้านหนึ่งที่แพทย์ได้ออกมากล่าวเตือนว่า ไม่ควรไป “ตรวจเลือด” เพื่อหา “โรคภูมิแพ้อาหารแฝง” เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองและไร้ประโยชน์  โดยมีประเด็นดังนี้

            แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้จาก Facebook Page ภูมิแพ้แก้ได้ Allergic march ระบุว่า “อย่าตรวจเลือดหาภูมิแพ้อาหารแฝง เปลืองเงิน แต่ไม่ได้ประโยชน์” หลังจากมีการเผยแพร่บทความที่มีเนื้อหาสนับสนุนการตรวจเลือดหาภูมิแพ้อาหารแฝง (Food specific IgG) โดยได้อธิบายเพิ่มเติมไว้ว่า

            “โรคภูมิแพ้อาหารแฝง” ไม่มีบัญญัติในการแพทย์มาตรฐาน ส่วนคำว่า การทนต่ออาหารไม่ได้ (food intolerance) เช่น กินนมแล้วถ่ายเหลว กินผงชูรสแล้วคันตามตัว กินกลูเตนแล้วท้องอืด/ถ่ายเหลว (ไม่นับ celiac) ฯลฯ นั้น ไม่จัดเป็นโรคแพ้อาหาร ในความเป็นจริงโรคแพ้อาหารแบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

            1) ชนิดเฉียบพลัน ซึ่งสามารถตรวจด้วยการทดสอบผิวหนัง (skin test) หรือ ส่งตรวจเลือดหา specific IgE (เน้นว่า IgE นะครับ ไม่ใช่ IgG)

            2) ชนิดไม่เฉียบพลัน ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีการส่งตรวจเลือดใดที่ช่วยยืนยันได้เลย

            เมื่อหลายสิบปีก่อน มีคนคิดส่งตรวจเลือดหา “Food specific IgG” โดยหวังว่าจะช่วยวินิจฉัยโรคแพ้อาหารแบบไม่เฉียบพลันและภาวะทนต่ออาหารไม่ได้ แต่งานวิจัยได้พิสูจน์แล้วว่า การส่งตรวจดังกล่าวไม่ช่วยวินิจฉัย และยังตรวจเจอได้ในคนปกติด้วยซ้ำ ยิ่งไปกว่านั้น การอ้างว่าโรคเบาหวาน ความดัน ไขมัน โรคอ้วน หรือโรคลำไส้อักเสบเรื้อรัง เป็นโรคที่เกิดจาก “การแพ้อาหารแฝง” และเป็นเหตุผลชี้นำให้ลูกเพจส่งตรวจเลือดหา Food specific IgG เพื่อวินิจฉัย จึงเป็นเรื่องที่ไม่สมเหตุสมผล ไม่มีหลักฐานทางการแพทย์ อีกทั้ง ค่าส่งตรวจก็แพงมาก และผลตรวจทำให้ประชาชนตื่นตระหนก เข้าใจผิด และต้องงดอาหารโดยไม่จำเป็น

            สมาคมโรคภูมิแพ้ฯทั้งจากสหรัฐอเมริกา แคนาดา กลุ่มประเทศฝั่งยุโรป รวมทั้ง สมาคมโรคภูมิแพ้แห่งประเทศไทย จึงได้ออกแถลงการณ์ “อย่างเป็นทางการ” เพื่อคัดค้านการส่งตรวจ Food specific IgG หรือ ภูมิแพ้แฝง และสรุปว่า ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ารับบริการตรวจเลือดหาโรคภูมิแพ้อาหารแฝง

 

  • งานวิจัยต่างประเทศที่น่าสนใจเกี่ยวกับประเด็นภูมิแพ้อาหาร

1) ทำไมการรับประทานอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้ที่มีความเสี่ยงสูงในขณะที่ให้นมบุตรจึงดีสำหรับแม่และลูก

            ทารกจะสัมผัสกับอาหารที่อาจก่อภูมิแพ้เป็นครั้งแรกในขณะที่กินนมแม่ ทุกสิ่งที่แม่กินเข้าไปจะถูกดูดซึมเข้าสู่ระบบและมีการแบ่งปันอาหารซึ่งกันและกัน แพทย์ส่วนใหญ่แนะนำให้แม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่กินอาหารทั้งหมดที่ชอบตามปกติในขณะที่เฝ้าติดตามทารกอย่างใกล้ชิดเพื่อหาอาการไม่พึงประสงค์ที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งทารกควรได้รับสารก่อภูมิแพ้ในช่วงแรกของชีวิต ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญยอมรับว่าควรแนะนำอาหารที่อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ เช่น เนยถั่ว ในปริมาณเล็กน้อยในตอนแรก โดยอาจต้องรอ 2-3 วันระหว่างการรับประทานอาหารที่เป็นภูมิแพ้โดยทั่วไป เพื่อที่ว่าหากลูกน้อยของคุณทำปฏิกิริยาจะได้ทราบได้อย่างชัดเจน

            Kathy Murphy ผู้ช่วยแพทย์ที่ปรึกษาการให้นมบุตรที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการระหว่างประเทศ ได้กล่าวประเด็นที่น่าสนใจไว้ว่า พ่อแม่หลายคนเข้าใจผิดว่าการกินอาหารที่มีความเสี่ยงสูงมากเกินไปจะเพิ่มโอกาสที่ลูกจะเป็นโรคภูมิแพ้ ซึ่งความสัมพันธ์นี้ไม่มีอยู่จริง เช่น การกินไข่มากเกินไปจะไม่ทำให้ลูกของคุณแพ้ ในความเป็นจริงความเสี่ยงของการแพ้อาหารค่อนข้างต่ำ แม้ว่าเด็กจะเป็นโรคภูมิแพ้ได้มากเมื่อโตขึ้น แต่การแพ้อาหารส่วนใหญ่จะตรวจพบในวัยเด็ก เพียงประมาณ 15% ของกรณีที่แพ้อาหารที่เกิดขึ้นในวัยผู้ใหญ่ ในขณะที่อุบัติการณ์ของการแพ้อาหารกำลังเพิ่มขึ้น แต่เด็กน้อยกว่า 8% ที่จะเป็นโรคภูมิแพ้อาหาร

            ทารกควรจะได้รับการแนะนำให้รู้จักกับอาหารที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ที่มีความเสี่ยงสูงเป็นครั้งแรกผ่านทางนมแม่ในวัยทารก ดังนั้น คนเป็นแม่จึงควรรับประทานอาหารที่สมดุลในขณะที่อยู่ในระยะนี้ ยิ่งลูกได้สัมผัสกับอาหารที่แตกต่างกันมากเท่าไร แม่ก็จะสามารถแยกแยะอาการแพ้ได้เร็วขึ้นเท่านั้น โอกาสที่อาหารจะก่อให้เกิดอาการแพ้ก็จะน้อยลง โดยขอแนะนำให้แนะนำอาหารทีละครั้งโดยให้อาหารใหม่ทุก ๆ 3-4 วันเพื่อให้สามารถตรวจสอบอาการใหม่ ๆ ได้ เช่น ผื่น ลมพิษ อาการทางเดินหายใจ หรืออาเจียนอย่างรุนแรง อาการที่รุนแรงขึ้นหลายอย่างคือลูกน้อยกำลังปรับตัวเข้ากับอาหารใหม่ ๆ และจะแก้ไขได้ แต่ควรปรึกษากับกุมารแพทย์ หลังจากได้แนะนำอาหารหลายชนิดแล้วก็สามารถเริ่มต้นด้วยอาหารที่มีสารก่อภูมิแพ้สูงกว่า เช่น ถั่วเหลือง ไข่ ถั่วลิสง ข้าวสาลี ผลิตภัณฑ์นม ในรูปแบบของชีสหรือโยเกิร์ต

            สิ่งสำคัญคือต้องตรวจสอบทารกของคุณเพื่อหาสัญญาณของอาการแพ้ในช่วง 6 เดือนแรกของชีวิต หากมีประวัติครอบครัวเป็นโรคภูมิแพ้คุณจะต้องเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการเฝ้าติดตาม แม้ว่าการเป็นโรคภูมิแพ้ตัวเองไม่ได้หมายความว่าลูกของคุณจะได้รับการถ่ายทอดทางพันธุกรรมโดยอัตโนมัติ แต่พวกเขาอาจมีแนวโน้มทางพันธุกรรมมากกว่า แต่มั่นใจได้ว่าอาการแพ้อาหารส่วนใหญ่ไม่เป็นอันตรายถึงชีวิตและส่วนใหญ่ไม่รุนแรง สามารถควบคุมได้ การรู้ว่าลูกแพ้อะไรโดยเร็วที่สุดเป็นขั้นตอนที่ดีในการป้องกันและรักษาอาการแพ้

 

2) การศึกษาเพื่อหาวิธีบรรเทาอาการแพ้อาหารที่ต้นเหตุ

            Eliot Herman ศาสตราจารย์ด้านพืชศาสตร์และสถาบัน Bio5 แห่งมหาวิทยาลัยแอริโซนา มองว่า การแพ้อาหารถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นปัญหาทางสังคม ที่หากสามารถปรับเปลี่ยนอาหารและเน้นรักษาบุคคลที่มีความอ่อนไหวเหล่านี้ ก็จะช่วยให้เป็นการบรรเทาชีวิตดีขึ้นได้ และส่งผลไปถึงค่าใช้จ่ายทางการแพทย์ทั้งหมดในสหรัฐฯ ที่อาจจะลดลง ซึ่งการแพ้อาหารถือเป็นปัญหาใหญ่ พบว่า เด็กประมาณ 7% และผู้ใหญ่ 2% ในสหรัฐอเมริกามีอาการแพ้อาหารบางประเภท ซึ่งโรคภูมิแพ้เหล่านี้จะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพถึง 25 พันล้านเหรียญสหรัฐในแต่ละปี

            ซึ่งจุดนี้เองทำให้ Herman ได้ทุ่มเททำงานเพื่อศึกษาวิจัยและพยายามจะแก้ปัญหาตรงนี้ โดยพบว่าโปรตีนที่ทำจากถั่วเหลืองเป็นสาเหตุของการแพ้ถั่วเหลืองส่วนใหญ่ จึงต้องการทราบว่า เหตุใดโปรตีนนี้จึงทวีความรุนแรงมากขึ้นและจะลดมันลงในพืชผลได้อย่างไร โดย Herman ได้ทดลองผ่านการใช้โมเดลสัตว์ ซึ่งก็คือสุกร เนื่องจากมีอาการแพ้ถั่วเหลืองคล้ายกับมนุษย์ โดยทำงานร่วมกับทีมวิจัยที่เพาะพันธุ์สุกรที่มีความไวต่อถั่วเหลืองมากเป็นพิเศษ ซึ่งสุกรเหล่านี้สามารถใช้เพื่อดูว่าพ่อพันธุ์แม่พันธุ์พืชทำได้ดีเพียงใดในการกำจัดโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ออกจากเมล็ดถั่วเหลืองได้ แต่หากทดสอบกับเด็กที่เป็นโรคภูมิแพ้จะไม่สามารถทำได้ และจากจุดนี้เองนับเป็นความสำเร็จที่ Herman ได้เป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรกก่อนหน้านี้เป็นการร่วมมือกับ บริษัท ดูปองท์เพื่อผลิตถั่วเหลืองที่ไม่สามารถสร้างโปรตีนที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ได้มากที่สุด

            นอกจากนี้ ยังพบว่า นอกจากสุกรแล้ว ยังมีสุนัขที่มีความชุกของอาการแพ้ถั่วเหลืองด้วยจากในอาหารสุนัขบางชนิด ดังนั้นการลดการแพ้ของพืชได้ ก็จะดีต่อสัตว์อีกหลาย ๆ ประเภทเช่นกัน โดย Herman ได้กล่าวไว้ในท้ายที่สุดว่า “อาหารได้รับการยอมรับว่าเป็นยามาตั้งแต่สมัยโบราณ หวังว่าการลดสารก่อภูมิแพ้ของถั่วเหลืองจะให้ผลลัพธ์ทางการแพทย์ที่ดีสำหรับมนุษย์และสัตว์”

 

3) การรักษาแนวใหม่ของคนแพ้ถั่ว

            ปัจจุบันทางการแพทย์มีวิธีรักษาการแพ้อาหารอยู่หลายวิธี เช่น รักษาโดยการรับประทาน (Oral Immunotherapy) คือการรับประทานอาหารที่ผู้ป่วยแพ้ในปริมาณน้อยเพื่อเฝ้าดูอาการ แล้วจึงเพิ่มปริมาณอาหารจนร่างกายสามารถทนได้และหายจากการแพ้อาหาร หรือ รักษาโดยอมใต้ลิ้น (Sublingual Immunotherapy) เป็นการหยอดสารก่อภูมิแพ้ที่สกัดจากอาหารในรูปแบบของเหลวใต้ลิ้นของผู้ป่วยเป็นเวลา 3 – 7 วัน ต่อสัปดาห์ แต่การรักษาประเภทนี้ได้ผลน้อยกว่าการรักษาแบบรับประทาน ทั้งยังใช้เวลานานถึง 3 – 5 ปี เพื่อให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันอย่างสมบูรณ์

            บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์จากฝรั่งเศส DBV Technologies วิจัยการรักษาแบบใหม่คือ การรักษาแบบติดผิวหนัง (Epicutaneous Immunotherapy) โดยออกผลิตภัณฑ์ที่ชื่อว่า Viaskin™ Peanut สำหรับการรักษาการแพ้ “ถั่วลิสง” ในรูปแบบของแผ่นยาขนาดเท่าเหรียญทรงวงกลมที่มีพลาสติกเคลือบสารโปรตีนของถั่วลิสงสำหรับติดบนหลังของผู้ป่วยเพื่อให้ความชื้นและเหงื่อจากผิวหนังจะค่อย ๆ ละลายโปรตีนบนแผ่นพลาสติกและซึมเข้าสู่ผิวหนัง จากนั้นจึงเป็นหน้าที่ของระบบภูมิคุ้มกันที่จะเข้ามาตอบสนอง โดยเฉพาะ Langerhans Cells เซลล์บริเวณชั้นผิวหนังกำพร้าที่ดูดซับแอนติเจน (Antigen-Presenting Cell) ซึ่งคอยกำจัดสิ่งแปลกปลอมบริเวณผิวหนังและขจัดภูมิไวของโปรตีนที่เข้าสู่ร่างกาย ทำให้แม้ว่าโปรตีนเหล่านี้จะเดินทางไปทั่วร่างกาย แต่ก็ไม่ส่งผลให้ระบบร่างกายดูดซึมโปรตีนถั่ว จึงไม่สร้างผลข้างเคียงหรืออาการแพ้ โดยการรักษาด้วยวิธีนี้นับเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่แพ้ถั่วอย่างรุนแรง ทำให้วิธีนี้ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากกว่าการรักษาแบบรับประทาน ด้วยศักยภาพของผิวหนังที่ช่วยทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันแก่ร่างกาย

            ช่วงต้นปีที่ผ่านมา มีรายงานจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นเด็กอายุ 4 - 11 ปี พบว่า ตลอดการใช้การรักษาด้วยวิธีนี้เป็นเวลา 3 ปี ผู้ป่วยจำนวน 54% สามารถบริโภคถั่วลิสงได้อย่างน้อย 1,000 มิลลิกรัมจึงจะแสดงอาการแพ้ แต่ก็มีผู้เข้ารับการรักษาหลายรายที่ได้รับผลข้างเคียงและต้องหยุดการรักษาไป ด้าน ท็อดด์ กรีน (Todd Green) หัวหน้าทีมวิจัยแห่ง DBV Technologies ได้อธิบายถึงการรักษาวิธีนี้ว่า “สิ่งสำคัญที่ควรตระหนักคือเป้าหมายการรักษา ไม่ใช่เพื่อให้เราออกไปรับประทานถั่วลิสงหรือผลิตภัณฑ์ที่มีถั่วได้อย่างอิสระ แต่เป็นสร้างภูมิคุ้มกันให้แพ้น้อยลง”

            แม้ล่าสุด Viaskin™ Peanut จะยังไม่ได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา ในประเด็นด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และต้องปรับปรุงแผ่นยาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ทางทีมวิจัยก็ยังคงเร่งพัฒนาต่อไป พร้อมเดินหน้าวิจัย Viaskin สำหรับการรักษาอาการแพ้ไข่และนม เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้ผู้ที่ต้องเผชิญกับอาการแพ้อาหารในอนาคต

 

4) การแพ้อาหารและความสามารถในการทดสอบขนาดของตลาดภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้ การแบ่งปันสถานะและการคาดการณ์ปี 2020 – 2025

 

            การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันโรคภูมิแพ้ หรือที่เรียกว่า desensitization หรือ hypo-sensitization เป็นการรักษาทางการแพทย์สำหรับโรคภูมิแพ้บางประเภท มีประโยชน์สำหรับผู้แพ้สิ่งแวดล้อม แพ้แมลงสัตว์กัดต่อย และโรคหอบหืด ซึ่งยังไม่แนะนำสำหรับผู้แพ้อาหารเนื่องจากยังไม่เห็นประโยชน์อย่างชัดเจน การบำบัดด้วยภูมิคุ้มกันเกี่ยวข้องกับการให้ผู้คนได้รับสารก่อภูมิแพ้ในปริมาณที่มากขึ้นและมากขึ้น เพื่อพยายามเปลี่ยนการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน

            ตลาดภูมิคุ้มกันบำบัดโรคภูมิแพ้มีมูลค่า 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2562 และคาดว่าจะสูงถึง 17,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2568 ที่ CAGR 5.1% ในช่วงเวลาคาดการณ์

            รายงานการวิจัยฉบับใหม่มีชื่อว่า Global Food Allergen and Intolerance Testing การเติบโตของตลาดในปี 2020-2025 ซึ่งศึกษาปัจจัยสำคัญทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับตลาด Global Food Allergen and Intolerance Testing โดยมีความสำคัญต่อการเติบโตและการพัฒนาของธุรกิจในพารามิเตอร์ของตลาดที่กำหนด รายงานนี้เน้นถึงองค์ประกอบสำคัญที่เกี่ยวข้องกับตลาด เช่น ขนาดของตลาดส่วนแบ่ง โปรไฟล์ของบริษัท ความสามารถในการทำกำไร โอกาสและภัยคุกคาม ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ผู้เล่นในตลาดหลัก การแบ่งส่วนภูมิภาคและองค์ประกอบที่สำคัญอื่น ๆ อีกมากมายที่เกี่ยวข้องกับการแพ้อาหารทั่วโลกและการแพ้อาหาร การทดสอบตลาด

 

 

อ่านข้อมูลเกี่ยวกับ Food Allergy and Food Intolerance เพิ่มเติมได้ที่ :

 

กรุงเทพธุรกิจ. 2563. เพราะอะไร? คนทั่วโลกเสี่ยง 'แพ้อาหาร' เพิ่มมากขึ้น. สืบค้นจาก

       https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/905009 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563.

นพกร คนไว. 2563. ข่าวดีของคนแพ้...การรักษาแนวใหม่ของคนแพ้ถั่ว. สืบค้นจาก

       https://www.creativethailand.org/article/trend/32573/th#Epicutaneous-Immunotherapy

       เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563.

Jurairat N. 2563. แพทย์เตือน อย่า “ตรวจเลือด” หา “โรคภูมิแพ้อาหารแฝง” สิ้นเปลือง-ไร้ประโยชน์. สืบค้นจาก

       https://www.sanook.com/health/25299/ เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563.

MGR Online. 2561. วิธีสังเกตว่าเราเป็น “ภูมิแพ้อาหารแฝง” หรือไม่ ?. สืบค้นจาก

       https://mgronline.com/goodhealth/detail/9610000081989 เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563.

ThaiPR.net. 2563. อาหารฟรีฟรอม (Free-From) ก้าวสู่เทรนด์อาหารยุค 2021 เตรียมยกงานแสดงสินค้าชื่อดัง

       จากยุโรปสู่เอเชียมีนาคมปีหน้า. สืบค้นจาก https://www.ryt9.com/s/prg/3132856 เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม

       2563.

Ariane Signer. 2020. Why Eating High-Risk Allergen Foods While Breastfeeding Is Good For You &

       Your Baby. Retrieve from https://www.babygaga.com/eating-high-risk-allergen-foods-while-

       breastfeeding-good-for-you-and-baby/, 23 December 2020.

ELLEN BARLOW. 2020. New Phase of Microbiome Research Interrogating the microbiome

       to find answers about disease. Retrieve from https://hms.harvard.edu/news/new-phase-

       microbiome-research, 23 December 2020.

Emily Henderson. 2020. Finding ways to mitigate food allergies at the source. Retrieve from

       ttps://www.news-medical.net/news/20201118/Finding-ways-to-mitigate-food-allergies-at-the-

       source.aspx, 22 December 2020.

Irfan Tamboli. 2020. Allergy Immunotherapy Market In-deep Analysis And Experts Review Report

       2020-2025. Retrieve from https://www.openpr.com/news/2193263/allergy-immunotherapy-

       market-in-deep-analysis-and-experts, 23 December 2020.

Market Study Report. 2020. FOOD ALLERGEN AND INTOLERANCE TESTING MARKET SIZE, SHARE,

       STATUS AND FORECASTS 2020-2025. Retrieve from https://www.express-journal.com/food-

       allergen-and-intolerance-testing-market-257674/, 23 December 2020.


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri