สวัสดีครับ ยินดีต้อนรับทุกท่านเข้าสู่รายการ kulibtalkของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์  และ kulibtalk ในวันนี้ ถือเป็นตอนพิเศษกว่าตอนอื่นๆ โดยในวันนี้เราจะนำเสนอเรื่องราว และแรงบันดาลใจเกี่ยวกับทรัพยากรป่าไม้ของประเทศของเรา ซึ่งในปัจจุบันนี้จะมีความเติบโตอย่างรวดเร็วรวมถึงตึกรามบ้านช่องและถนนหนทางต่างๆ ซึ่งในเมืองใหญ่เหล่านี้เอง สิ่งที่จะทำให้มีความชุ่มชื้นหัวใจขึ้นมาได้นั่นก็คือต้นไม้ใหญ่ที่แทรกตัวอยู่ในป่าคอนกรีตแห่งนี้นั่นเอง และในวันนี้หลายท่านอาจจะคิดว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองสร้างปัญหาให้กับวิถีชีวิตของคนเมือง ในเรื่องของการเดินทาง หรือว่าการเดินตามท้องถนนต่างๆ หลายท่านเองอาจจะยังไม่ทราบว่ามีอาชีพหนึ่งที่ทำหน้าที่คอยดูแลรักษาและตัดแต่งกิ่งไม้ใหญ่เหล่านี้ ซึ่งอาชีพเหล่านี้ที่เราเรียกกันว่า รุกขกร

และในวันนี้รายการ kulib talk ของเราก็ได้รับเกียรติจากอาจารย์ประจำคณะวนศาสตร์ ภาควิชาวนวัฒนวิทยา ซึ่งจะมาให้ความรู้เกี่ยวกับรุกขกรและต้นไม้ในเมืองในวันนี้ ขอต้อนรับ อาจารย์พรเทพ เหมือนพงษ์

อาจารย์ สวัสดีครับ

ยินดีต้อนรับสู่รายการ kulib talk ในบรรยากาศที่ร่มรื่นในสวนพฤกษศาสตร์ที่อยู่บริเวณด้านหน้าสำนักหอสมุดของเรานั่นเอง และในวันนี้อาจารย์จะมาเป็นผู้ที่จะมาให้ความรู้เกี่ยวกับอาชีพรุกขกร และเกี่ยวกับเรื่องของต้นไม้ในเมือง มาเริ่มประเด็นแรกกันเลยนะครับ

ประเด็นแรก อยากถามอาจารย์ว่าต้นไม้ในเมืองมีความสำคัญ หรือมีประโยชน์กับชีวิตคนเมืองอย่างไรบ้าง

ง่ายๆ เลยครับ ที่เรานั่งกันอยู่นี้สังเกตเห็นว่าตรงนี้อากาศค่อนข้างเย็น เมื่อเทียบกับเราขยับไปด้านนอก ซึ่งเป็นถนน แดดร้อนมาก จะสังเกตร้อนมาก ทุกคนต่างพยายามที่จะเขยิบเข้ามานั่งหลบแดดกันอยู่ในที่ใต้ต้นไม้ตรงนี้ นี่เองเป็นความต้องการพื้นฐานง่ายๆ ของมนุษย์ เราคงไม่อยากร้อน ไม่อยากเหนื่อย ไม่อยากเครียด ต้นไม้มีส่วนช่วยให้คนเมืองมีชีวิตที่ดีขึ้น ง่ายๆ เลย เราทำงานทุกวัน คนเมืองส่วนใหญ่จะทำงานกับคอมพิวเตอร์อยู่ในออฟฟิศ โอกาสที่จะได้สัมผัสต้นไม้ธรรมชาติเหมือนคนต่างจังหวัดค่อนข้างยาก เราเครียด เราทำงานทุกวัน ลองง่ายๆ แค่เราลองเปิดหน้าต่างและหันออกไปดูต้นไม้สัก 3 นาที 5 นาที ความเครียดของเราจะผ่อนคลายลงเยอะ ซึ่งมีการวิจัยมากมายที่ออกมารองรับแล้วว่ามันเป็นสิ่งที่ทำให้คนเมืองรู้สึกผ่อนคลายมากยิ่งขึ้น ซึ่งความเครียดที่ลดน้อยลงทำให้ปัญหาสุขภาพ สุขภาพจิตต่างๆ ของคนเมืองก็น้อยลงด้วย คือใกล้ตัวมนุษย์ที่สุด นอกจากนี้ถ้ามองในภาพกว้างขึ้น เมืองใหญ่หรือเมืองที่มีประชากรหนาแน่นมากๆ เราขาดพื้นที่สีเขียวไม่ได้ เราคงจะให้เมืองมีแต่ตึกมีแต่รางรถไฟฟ้ามีแต่สิ่งก่อสร้างสูงใหญ่ไม่ได้ เมืองต้องมีพื้นที่สีเขียวหรือที่เรียกว่า UrbanGreen Spaceด้วย พื้นที่สีเขียวเปรียบเสมือนอัญมณีของเมือง ถ้าเราเคยไปในเมืองใหญ่ๆ ในต่างประเทศหลายๆ เมือง นอกจากตึกรามบ้านช่องที่สวยงาม เขายังมีพื้นที่สีเขียวที่สวยงามด้วย

พิธีกร ผมเคยเห็นวิวที่นิวยอร์ค เขาก็มีเป็นโซนเมือง มี Central Park ที่เป็นสวน อันนั้นเป็นตัวอย่างที่เคยเห็นมา

ใช่ครับ แต่ว่าปัญหาตอนนี้ในบ้านเรา โฟกัสเฉพาะเมืองใหญ่ ยกตัวอย่างเช่น กรุงเทพฯ เลยแล้วกัน ตอนนี้พื้นที่สีเขียวเราถ้าเทียบต่อหัวประชากรต้องถือว่ากรุงเทพฯ เราค่อนข้างมีพื้นที่สีเขียวน้อยมาก น้อยมาก ถ้ารวมประชากรกับประชากรแฝงกรุงเทพฯ น่าจะมีใกล้ๆ 10 ล้านคน แต่พื้นที่สีเขียวต่อหัว คำนวณออกมาได้แล้วยังไงก็ไม่เกิน 5 ตารางเมตรต่อหัว ต่อหัวประชากร ซึ่งมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลก เขาให้ standardหรือมาตรฐานไว้ที่ 9 ตารางเมตรต่อหัวประชากร แต่จริงๆ แล้วในเมืองใหญ่ๆ หรือเมืองที่พัฒนาหรือเจริญแล้ว อาจจะมีถึง 3-40 ตารางเมตรต่อหัวประชากร ง่ายๆ เช่น สิงคโปร์ มี 5-60 ตารางเมตรต่อหัวประชากร

พิธีกร สิงคโปร์ ประเทศเล็กๆ ตามจริงตัวสิงคโปร์ประชากรค่อนข้างหนาแน่นเหมือนกัน

แต่ว่าใครเคยไปสิงคโปร์ลงเครื่องบินปั๊บเจอพื้นที่สีเขียวเลยเขาให้ความสำคัญกับต้นไม้และพื้นที่สีเขียว ซึ่งมีการดูแลที่ดีมาก นอกจากพื้นที่ต่อหัวที่เยอะแล้ว คุณภาพของพื้นที่สีเขียวเขายังดีด้วย เนื่องจากมีการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ แต่ในประเทศไทยนอกจากพื้นที่จะน้อยแล้ว คุณภาพก็ยังจะไม่ค่อยดีอีกด้วย

พิธีกร เป็นต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ภายนอกตึก

ใช่ครับ

พิธีกร ถ้าหากว่าเขานับรวมพื้นที่สีเขียวที่เป็นต้นไม้ภายในตึก รวมกันด้วยไหมครับ

พื้นที่สีเขียวในตึก พูดถึงต้นไม้ในตึกก่อน ถ้าเป็นต้นไม้ในตึกส่วนใหญ่จะเป็นต้นไม้ที่ปลูกเพื่อประดับมากกว่าที่จะให้คำจำกัดความว่าเป็นพื้นที่สีเขียวจริงๆ มันควรจะเป็นกลุ่มของต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ด้วยกัน ซึ่งน้อยตึกมากที่จะมีการปลูกต้นไม้เยอะขนาดนั้น

พิธีกร อย่างที่กล่าวมา อาจารย์ยกตัวอย่างเช่นในกรุงเทพฯของเราเองที่มีข้อมูลประมาณว่า 5 ตารางเมตรต่อหัว

ไม่เกินนั้น

พิธีกร อาจารย์พอจะทราบข้อมูลไหมว่าอย่างกรุงเทพฯ เอง เขามีแนวทางพัฒนาที่จะเพิ่มจำนวนตรงนี้อย่างไรบ้างก็กรุงเทพฯ เขา set เป้าหมายไว้แล้ว ตั้งเป้าหมายไว้ว่าเราจะไปให้ถึง 9 ตารางเมตรตามมาตรฐานขององค์กรอนามัยโลกให้ได้ ตอนนี้ก็มีการเร่งในการที่จะปลูกต้นไม้ตามถนนหนทางข้างทางต่างๆ แต่ต้องเรียนอย่างนี้ว่าด้วยข้อจำกัดของกรุงเทพฯ เมืองเราขยายไปไม่ได้มากไปกว่านี้อีกแล้ว ด้วยพื้นที่กรุงเทพฯ มีประมาณสัก 1 ล้านไร่ ซึ่งผมว่าแทบจะทุกตารางเมตรมีความเป็นเจ้าของคน การจะพัฒนาพื้นที่สีเขียวจริงๆ มันควรจะเป็นพื้นที่ของรัฐ ซึ่งตอนนี้ผมว่าส่วนใหญ่ก็เต็มไปด้วยการใช้ประโยชน์พื้นที่ของรัฐอยู่แล้ว การจะเปลี่ยนอะไรสักอย่างมาเป็นพื้นที่สีเขียวในข้อจำกัดที่เรามีอยู่ค่อนข้างยากทีเดียว สิ่งหนึ่งที่เราควรจะมุ่งเน้นกรุงเทพฯ คือการดูแลคุณภาพของสิ่งที่เรามีอยู่ให้ดีขึ้นกว่านี้

พิธีกร ถามนอกประเด็นในส่วนของสวนสาธารณะต่างๆ ในกรุงเทพฯ เท่าที่ผมเห็นก็จะมีสวนรถไฟ สวนเบณจ สวนลุม สวนอะไรต่างๆ อาจารย์คิดว่าสวนไหนค่อนข้างดูแล้วมีพื้นที่สีเขียวค่อนข้างมาก

พื้นที่สีเขียวหลักๆ ของเราในกรุงเทพฯ ถ้าใหญ่จริงๆ ไม่เกิน 10 สวน เช่นที่กล่าวมา สวนเบญจสิริ สวนลุม สวนรถไฟ สวนสิริกิติ์ ไกลไปหน่อย สวนหลวง ร.9 เหล่านี้ก็เป็นพื้นที่ใหญ่ๆ แต่ว่าเราจะมีพื้นที่สีเขียวเล็กๆ ที่กระจายอยู่ตามเขตนั้นเขตนี้ที่ซึ่งไม่ใหญ่มาก อย่างเกษตรเราเองก็มีพื้นที่สีเขียวหลายจุด เช่นตรงนี้เองก็ยังนับว่าเป็นพื้นที่สีเขียวได้ ถึงจะมีขนาดเล็กๆ ก็ตาม

พิธีกร อย่างตอนนี้ก็มีพื้นที่เล็กๆ อยู่ด้านหน้าหอสมุด และมีสวน 100 ปี ที่อยู่ด้านหลังหอสมุด ส่วนนั้นก็ค่อนข้างเป็นต้นไม้ใหญ่ รู้สึกจะมีสวนที่เพิ่งเปิดไป ที่อยู่ตรงอาคารที่พักบุคลากร อันนี้ก็จะเป็นประโยชน์หลักๆ ของต้นไม้ใหญ่ในเมืองอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวมา

พอมีต้นไม้ใหญ่ในเมืองจะมีเรื่องของระบบการจัดการต่างๆ และได้ทราบมาว่ามีอาชีพหนึ่งที่เป็นอาชีพที่คอยดูแลรักษาต้นไม้ใหญ่ในเมือง และคอยตัดแต่งกิ่งต้นไม้ด้วยที่เรียกว่ารุกขกร อยากจะเรียนถามอาจารย์ว่ารุกขกรจริงๆ อาชีพคืออะไร

คำว่า รุกขกร เป็นคำใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้นได้ไม่กี่ปีมานี้ ที่รู้จักกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งศาสตราจารย์เดชา บุญค้ำ อยู่ที่จุฬาฯท่านได้เป็นผู้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นมาจากศัพท์ภาษาอังกฤษว่า arboristหรือ arboristcultureซึ่งก็คือวิชารุกขกรรม คนที่ทำงานรุกขกรรมเราเรียกว่า รุกขกร รุกขซึ่งแปลว่าต้นไม้นี่ล่ะ รุกขกรทำหน้าที่ในการที่จะตั้งแต่เริ่มเลือกต้นไม้มาปลูกเลย ดูแลรักษาตลอดช่วงชีวิตเขา จนถึงสุดท้ายเมื่อต้นไม้ตาย รุกขกรก็เป็นผู้มาเอาต้นไม้ต้นนั้นออกจากพื้นที่ด้วย ตอนนี้วิชาชีพนี้เป็นวิชาชีพที่เพิ่งเกิดใหม่สำหรับเมืองไทย รุกขกรที่ทำเป็นอาชีพจริงๆ และมีองค์ความรู้ที่เราสามารถจะเรียกว่า รุกขกรจริงๆ บ้านเรามีค่อนข้างจำกัดมาก ผมให้ว่าไม่เกิน 100 คนที่ทำงานอยู่ในประเทศนี้

พิธีกร เมื่อกี้อาจารย์บอกว่าว่ารุกขกร แปลว่าต้นไม้ ตามความเข้าใจผมคิดว่า วน

วนแปลว่า ป่า รุกขคือรายต้น 1 ต้น คือ รุกข

พิธีกร นั่นก็คือคำจัดความของรุกขกร ซึ่งในประเทศนี้อาจารย์ได้กล่าวไว้คือ ไม่เกิน 100 คน

ไม่มีการทำบัญชีที่ชัดเจน ผมให้ตัวเลขที่ไม่เกิน 100 คน หลักสิบแล้วกัน ซึ่งตอนนี้เรามีการจัดตั้งสมาคมรุกขกรรมไทย และเรากำลังเริ่มทำรายการของผู้ที่ปฏิบัติงานด้านรุกขกรรมในประเทศไทยว่ามีใครบ้าง รายละเอียดเป็นอย่างไร ในอนาคตต่อไปเดี๋ยมผมเล่าต่อ

ก่อนที่เราจะเข้าเรื่องของอาชีพรุกขกร เราก็อยากจะทราบว่าถ้าหากมีน้องๆ นักเรียนที่จะเข้าต่อในมหาวิทยาลัยมีความใฝ่ฝัน อาชีพใหม่อาชีพรุกขกรน่าสนใจน่าทำอยากจะทราบว่าต้องเรียนในสาขา คณะอะไรหรือว่าภาควิชาอะไร อาจารย์แนะนำอย่างไรบ้าง

สำหรับวิชาชีพรุกขกร องค์ความรู้ที่ต้องมีแน่ๆ คือด้านต้นไม้ สำหรับในต่างประเทศคนที่ทำงานรุกขกรต้องจบทางด้านป่าไม้ ซึ่งของเราคือวนศาสตร์ ทางด้านพืชสวน หรือด้านอื่นที่เกี่ยวข้องกับต้นไม้

พิธีกร พืชไร่ก็ได้ไหมครับ

พืชไร่อาจจะยังไม่ใช่ต้นไม้ พฤกษศาสตร์ เป็นต้น ซึ่งเกี่ยวข้องกับต้นไม้สามารถจะ apply เข้ามาอาชีพรุกขกรรมหรือรุกขกรได้ แต่สำหรับในบ้านเราจริงๆ ตอนนี้ยังไม่มีที่ไหน หรือมหาวิทยาลัยไหนที่เปิดสาขานี้ตรงๆ ในต่างประเทศมีจบปริญญาตรี ปริญญาโท ปริญญาเอกก็มีสาขารุกขกร รุกขกรรมเลย แต่บ้านเรายังไม่มี ที่ใกล้เคียงชัดเจนที่สุดตอนนี้ก็น่าจะเป็นของวนศาสตร์เราซึ่งมีการเรียนการสอนที่เกี่ยวกับต้นไม้โดยตรงตลอด 4 ปีอยู่แล้ว และมีการนำองค์ความรู้นั้นมาประยุกต์ใช้กับงานรุกขกรรม

พิธีกร ถ้าหากว่าศึกษาในคณะวนศาสตร์ เราจำเป็นต้องเลือกภาควิชาที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเลยไหมครับ

สำหรับการเรียนวนศาสตร์ตอนนี้ในปี1 และปี2 เราจะเรียนเหมือนกันหมดเป็นพื้นฐานวนศาสตร์ ด้านป่าไม้ ด้านต้นไม้ทั้งหมดเพื่อปูพื้นฐานให้แน่น หลังจากนั้นปี 3 จะเริ่มเลือกสาขาที่เราสนใจรุกขกรรมคนที่อยากเป็นรุกขกร เราก็มีวิชาที่เปิดสอนอยู่ในภาควิชาของเราคือวนวัฒน์วิทยา สามารถจะเลือกเรียนในปี 3 และปี 4 ได้

พิธีกร เราก็จะรู้แล้วว่าถ้าหากเราสนใจจะเรียนรุกขกร เราสามารถศึกษาทางด้านสาขาไหนได้บ้าง

อาจารย์มีคำแนะนำสำหรับคุณสมบัติของผู้เรียน เขาจะต้องมีพื้นฐานด้านใดเป็นพิเศษรึเปล่าที่สามารถมาเรียนรุกขกรได้

สำคัญที่สุดคือการรักต้นไม้ รักธรรมชาติ ชอบทำงานอยู่นอกออฟฟิศ ไม่ชอบอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ นั่งทำงานกับโต๊ะมากๆ นานๆ บุคลิกอย่างนี้จะเหมาะกับทำงานเกี่ยวกับต้นไม้มากกว่า ที่จะชอบกับการทำงานกับคอมพิวเตอร์หรืออะไร งานของเราส่วนใหญ่งานจะทำอยู่นอกออฟฟิศ อยู่กับต้นไม้ อย่างตรงนี้คือออฟฟิศของเรา บางคนถ้าอยากทำงานบนต้นไม้เลย ขึ้นไปตัดแต่ง ดูแลต้นไม้ รักษาโรค ดูโรค ดูแมลง ดูต่างๆ ก็ต้องเป็นคนที่ค่อนข้างจะมีความกล้า เพราะบางครั้งต้องปีนต้นไม้ขึ้นไปทำงานด้วย มีร่างกายสุขภาพที่แข็งแรง ค่อนข้างสำคัญทีเดียว ใจรักต้องมาก่อน

ในส่วนของวิชารุกขกรรมนอกจากในการเรียนรู้เกี่ยวกับต้นไม้ เขาจะต้องมีการสอนต้นไม้ใหญ่ที่อยู่เมือง กับต้นไม้ป่าด้วย

เรามีวิชาเฉพาะเลยที่เรียกว่าต้นไม้ในเมือง ซึ่งต้นไม้ในเมืองต่างจากต้นไม้ในป่าการดูแลรักษาอะไรต่างกัน ต้นไม้ชนิดเดียวกัน ถ้ามีต้นประดู่อยู่ตรงนี้กับต้นประดู่ที่อยู่ในป่า ต้นประดู่ชนิดเดียวกันแต่การที่เขาอยู่คนละที่ต้นไม้ตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมต่างกัน ต้นไม้ในเมืองแดดร้อน พื้นถนนก็ร้อน รถราวิ่ง มลพิษมากมาย โทรม ป่วย และตายง่าย นั่นคือที่เราต้องดูแลรักษาเป็นพิเศษกว่าต้นไม้ในป่า คนที่ดูแลก็ต้องเข้าใจว่าต้นไม้เป็นอะไร ต้องเข้าใจต้นไม้ด้วย คุยกับต้นไม้รู้เรื่อง ทำนองนั้น

พิธีกร มีหลักอะไรพิเศษไหมว่าถ้าในเมืองควรจะเป็นต้นไม้ประเภทนี้ที่เหมาะกับการปลูกในเมืองมากกว่าที่ปลูกธรรมดาทั่วไป

การเลือกต้นไม้ในเมืองมีหลักในการเลือกหลายเรื่องด้วยกัน หลักๆ เลยคือเรื่องของความปลอดภัยต้นไม้บางชนิดที่มีขนาดใหญ่มากๆ หรือมีกิ่งที่เปราะหักง่าย อะไรพวกนี้ การนำมาปลูกในเมืองต้องระวัง ถ้านำมาปลูกต้องมีการดูแลรักษาอย่างต่อเนื่อง ความสวยงาม กลิ่น หรือรูปทรงที่เราเอามาใช้บางต้นพุ่มหนา พุ่มเตี้ย บดบังทัศนียภาพในการขับรถพวกนี้คนที่จะมาเลือกต้นไม้ในเมืองหรือรุกขกรต้องเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้เหล่านั้น ว่าถ้ามาปลูกแล้วจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้เรานำมาปลูกและแก้ปัญหาตามหลังไปเรื่อยๆ ซึ่งมันไม่มีวันจบ

พิธีกร ต้องดูปัจจัยหลายอย่างในการเลือกต้นไม้นำมาปลูก ไม่ใช่ชนิดอย่างเดียว ดูสภาพแวดล้อมด้วย

นั่นคือสาเหตุที่ต้องเรียนวนศาสตร์

ทำไมต้องเน้นต้นไม้ใหญ่่เป็นหลัก รุกขกรจะดูเป็นต้นไม้ใหญ่อย่างเดียวหรือต้นไม้เล็กๆ

ต้นไม้เล็กๆ ถ้าหมายถึงไม้พุ่มหรือไม้ประดับเราจะให้คนที่เรียนด้านนั้นเฉพาะ เช่น พืชสวน อะไรพวกนี้เขาดูแลไปดีกว่า เราก็แยกมาดูต้นไม้ใหญ่ ซึ่งปัจจุบันคนที่ทำงานจริงๆ น้อย เราก็เลยอยากจะกำหนดขอบเขตงานให้มันชัดเจนว่าเราคือคนที่ดูแลต้นไม้ใหญ่เท่านั้น

มาพูดถึงการตัดแต่งกิ่งต้นไม้ใหญ่บ้างว่าวิธีการของรุกขกร มีวิธีการดูอย่างไร ว่าต้นไม้โตขนาดนี้ควรจะต้องตัดกิ่ง  ตกแต่งกิ่งได้ มีวิธีการตกแต่งกิ่ง พอตัดแต่งเสร็จแล้ว และมีการเยียวยาหรือสมานแผลอย่างไร

ต้องเรียนอย่างนี้ก่อนว่าต้นไม้ในเมืองสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดความเสียหายหรืออุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการตัดแต่งกิ่งที่ผิดวิธี การตัดแต่งกิ่งที่ผิดวิธีเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ต้นไม้ผุ โครงสร้างมันอ่อนแอ ตรงนี้เองพอเกิดหน้าฝน ลมพายุรุนแรง มันก็จะหัก สร้างอุบัติเหตุให้เกิดขึ้นกับผู้ที่สัญจรไปมา หรือเราที่นั่งใต้ต้นไม้

พิธีกร สาเหตุหนึ่งที่เจอมากในมหาวิทยาลัยคือมีพายุ ลมแรงๆ ต้นไม้จะโค่นลง

จากการตัดแต่งที่ผิดวิธีแล้ว เมื่อกี้ที่บอกว่าระบบรากนะครับ ต้นไม้จริงๆ รากของต้นไม้ไม่ได้อยู่ลึกมาก เขาอยู่ที่ระดับผิวดินไม่เกินสัก 1 เมตร ส่วนใหญ่จะอยู่สัก 3-50 เซนติเมตร ประมาณนี้ ต้นไม้ที่มีรากอยู่บนผิวดินการเปลี่ยนแปลงสภาพของพื้นผิวตรงนั้นมีผลโดยตรงกับราก เช่น ต้นไม้เคยขึ้นอยู่ดีๆ เราเอาปูนซีเมนต์มาเททับ เป็นทางเท้า เป็นที่วางเก้าอี้เป็นอะไรอย่างนี้ รากได้รับผลกระทบทันที พอรากเสียหาย ฝนตก ลมแรง ก็เกิดเหตุอย่างที่ว่า คือ ล้ม นั่นคือสาเหตุหลัก

พิธีกร ในเรื่องของการตัดแต่ง

การตัดแต่ง ก่อนที่เราจะตัดแต่งเราเคยเห็นไหมครับว่า เมื่อก่อนจะมี ไม่ต้องก่อนหรอก เดี๋ยวนี้ก็มี จะมีการตัดแต่งที่เขาเรียกว่า กุดหัว ภาษาชาวบ้านเรียกว่า กุดหัว คือตัดเหลือแต่ต้น ไม่มีใบ ไม่มีกิ่ง ไม่มีอะไรเลย ในกรุงเทพฯ เจอบ่อย การตัดแบบนี้ผมต้องบอกก่อนเลยว่า เป็นการตัดที่ผิดวิธีมากๆ การตัดแบบนั้นไม่ทำให้ต้นไม้เจริญเติบโตได้อีกแล้ว เพราะต้นไม้ไม่สามารถจะสร้างใบได้อีก ในเกษตรเองลองสังเกตดูหลายจุดจะตัดแบบนี้ นั่นคือการตัดโดยคนที่ไม่มีความรู้ ตัดเพื่อให้เตี้ยอย่างเดียวและก็หมดปัญหาใบไม่ร่วงซะ สุดท้ายต้นไม้ส่วนใหญ่พวกนี้ตาย รุกขกรจะตัดต้นไม้สักกิ่งต้องมีหลักคิดว่าจะตัดต้นนั้นตรงนั้นเพื่ออะไร จะแก้ปัญหาอะไร ตัดแล้วปัญหาหมดไหม ถ้าตัดแล้วจะมีปัญหาอะไรตามมา ต้องประเมินสภาพต้นไม้ก่อน เช่น ตรงนี้ต้นไม้มีขึ้นอยู่กี่ต้น ร่มเงาพอไหม ปัญหามีต้นไหนบ้างที่อาจจะสร้างอุบัติเหตุให้คน นิสิตที่นั่งอ่านหนังสือ เราแก้เป็นเรื่องๆ ไป โดยใช้หลักวิชาการเข้าไป เราไม่มาถึงตัดให้หัวกุดไปเลย จะได้หมดปัญหาใบร่วง ไม่ต้องตัดบ่อยคือเราจะไม่ทำแบบนั้นเด็ดขาด บางครั้งบางคนคิดว่า ทำไมตัดแค่นี้เอง ตัดน้อยจัง ทำไมไม่ตัดเยอะๆ ล่ะ ใบจะได้ไม่ร่วง ตรงนี้เองต้องอธิบายทำความเข้าใจกับคนในสังคมอีกเยอะ 

อุปกรณ์การตัดเขาต้องมีอุปกรณ์เยอะแยะมากมาย ต้องมีเชือกโหนอะไรไหมครับ

อย่างที่สอนนิสิตอยู่ตอนนี้ อุปกรณ์เรามีตั้งแต่ขึ้นบนต้นไม้ มีเชือก มีอุปกรณ์การปีนต่างๆ มีเลื่อย มีเลื่อยยนต์ ซึ่งหลักสำคัญที่สุดคือความปลอดภัย วิชาชีพรุกขกรหรือการปีนขึ้นไปตัดต้นไม้ เคยมีการจัดอันดับว่าเป็น1 ใน 10ของอาชีพอันตรายที่สุดในโลก มีการบาดเจ็บและเสียชีวิตต่อหัวสูงมากกว่าการขับรถบรรทุกอีก หมายถึงปีๆ หนึ่งมีคนบาดเจ็บเพราะอาชีพนี้เยอะ ในประเทศไทยเองก็เถอะคนที่ปีนตัดต้นไม้แล้วตายเป็นข่าวอยู่บ่อยๆ แต่ส่วนใหญ่พวกนี้จะขึ้นไปตัดแต่งโดยไม่มีความรู้อะไร ใช้ประสบการณ์กับความกล้าอย่างเดียวแล้วขึ้นไปเลย พอพลาดปั๊บ อุบัติเหตุเสียชีวิตทันที 

พอพูดถึงอุบัติเหตนึกถึงเรื่องสายไฟฟ้า ที่เห็นต้นไม้อยู่ใกล้ๆ สายไฟ เขาก็ต้องประสานกับทางการไฟฟ้า

นี่เป็นสาเหตุหนึ่งที่ประสบอุบติเหตุกันบ่อยๆ คือเรื่องไฟฟ้า เพราะว่าต้นไม้บ้านเรามันอยู่ร่วมกับสายไฟฟ้า บ้านเรายังมีต้นไม้ที่เกี่ยวพัน ลัดเลาะอยู่กับไฟฟ้าอยู่การตัดแต่งอันตรายมาก ในต่างประเทศมีรุกขกรที่ทำงานเฉพาะกับสายไฟฟ้าเลยเป็นศาสตร์อีกด้านหนึ่งเลย ต้องเรียนเฉพาะทางมากๆ บ้านเราแก้ปัญหาด้วยการตัดไฟก่อน ถ้าตัดไม่ได้ก็ขึ้นไปแบบนั้นนี่เป็นสาเหตุว่าพอไฟรั่วขึ้นมาช็อตเสียชีวิต มีบ่อยๆ อันตรายมากๆ จริงๆ การทำงานกับไฟฟ้าต้องประสานการไฟฟ้าอย่างใกล้ชิด ซึ่งเขายินดีตัดให้เราอยู่แล้ว

พิธีกร แจ้งไปที่การไฟฟ้าได้เลย

แจ้งได้เลย

ในส่วนของรุกขกรมีหน่วยงานที่ที่สามารถแจ้งว่าเราต้องการจะตัดตกแต่งกิ่ง

ตอนนี้ถ้าเป็นหน่วยงานของรัฐก็มีกรมป่าไม้ กรมป่าไม้ซึ่งมีรุกขกรของเขาอยู่ ซึ่งเป็นศิษย์เก่าจากวนศาสตร์นี่ล่ะ แล้วก็มีคณะวนศาสตร์ ที่เหลือจะเป็นรุกขกรที่เป็นเอกชน ซึ่งคนที่ทำงานเป็นรุกขกร เขามีการรับงานไปตัดแต่ง ไปประเมินหน้างานให้ตามปกติ ลองเข้า googleและ search รุกขกร

ในการตัดกิ่งอาจารย์มีวิธีตัด เขาตัดต้นโค่นเลยไหม หรือว่าเว้นอะไร อย่างไรบ้าง

อย่างที่เรียนไว้ว่า การตัดแต่งกิ่งต้องรู้ก่อนว่าเราจะตัดเพื่ออะไรอันดับแรก ถ้าเรารู้ว่าเราตัดเพื่ออะไร step ต่อไปถึงจะรู้ว่าเราจะตัดอย่างไร แต่หลักการทั่วๆ ไป เราไม่ควรตัดมากกว่า 2 ใน 3 ของกิ่งทั้งหมด สมมุติมีกิ่งอยู่ 30 เมตร สมมุตินะครับ เราก็ไม่ควรตัดมากกว่า 20 เมตร เหลือไว้ 10 เมตร ทำไมต้องเหลือไว้อย่างนั้น เพราะว่าใบเป็นส่วนสำคัญในการผลิตอาหาร ถ้าไม่มีใบต้นไม้อยู่ไม่ได้ หลายๆ ต้นในเกษตรตัดจนเหลือกิ่งไว้ 2 3 กิ่ง มันสร้างอาหารในการดำรงชีวิตไม่พอ สุดท้ายต้นไม้ไม่ไหวไม่ได้กิน มันก็ต้องตาย ธรรมดา 

พอตัดแต่งกิ่ง เราต้องเยียวยาสมานแผลต้นไม้อะไรอย่างไรบ้าง

การตัดแต่งกิ่งถ้าเป็นรุกขกรจริงๆ จะต้องรู้เลยว่าต้องตัดตรงไหน ต้นไม้มีกลไกในการเยียวยาตนเอง ถ้าตัดถูกจุด ต้นไม้สามารถจะมีการสร้างเนื้อไม้มาปิดแผลตัวเองได้ เหมือนคนเวลาเป็นแผลจะสามารถปิดแผลเองได้ ปัญหาคือคนที่ตัดส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าจะตัดส่วนไหน ต้นไม้จะสะสมพลังงานไว้ตำแหน่งที่เราควรจะตัดให้เหลือไว้ ส่วนใหญ่เราจะตัดทิ้ง

พิธีกร พอตัดทิ้งก็ไม่เจริญเติบโต ก็ตายได้

มันคือบริเวณใกล้ๆ โคนของกิ่ง ถ้าเราตัดชิดต้น ไอ้ส่วนนี้จะถูกตัดทิ้งไป คนที่ตัดเป็นจะเหลือส่วนนี้ไว้ เพื่อให้ต้นไม้สมานบาดแผลได้ เราเรียกว่า คอกิ่ง

ในความคิดเห็นของอาจารย์สถานการณ์ของต้นไม้ใหญ่ในเมืองตอนนี้ของบ้านเราเป็นอย่างไรบ้าง

ต้นไม้ใหญ่ในบ้านเราตอนนี้ ในกรุงเทพฯ แล้วกัน ถ้าบ้านเรามันดูกว้างไปนิดหนึ่ง ในกรุงเทพฯ ต้นไม้ส่วนใหญ่ปัญหาคือสุขภาพแย่ แย่ถึงแย่ที่สุด ง่ายๆ เลยถ้าเราเดินดูรอบม.เกษตรต้นไม้ส่วนใหญ่ไม่มีต้นไหนสมบูรณ์เลย มันต้องมีผุ มีโรค มีแมลงอะไรสักอย่างบนต้นไม้ แม้แต่ข้างนอกถ้าขยายกรุงเทพมหานคร ผมชอบเดินดูต้นไม้ เสาร์ อาทิตย์ผมไปสวนสาธารณะทุกวัน น้อยมากที่เราจะเจอต้นไม้ที่สมบูรณ์ ไม่มีอะไรที่เป็นปัญหาเลย สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับบ้านเราคืออะไร ปัญหาพวกนี้เป็นเหมือนระเบิดเวลาที่มันฝังเอาไว้ เราไม่รู้เลยว่าที่เรานั่งอยู่ตรงนี้ สัมภาษณ์อยู่ตรงนี้ อาจจะมีกิ่งไม้สักกิ่งหล่นใส่หัวเราเสียชีวิตก็ได้ มันคือความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ เรายังไม่มีการจัดการที่ถูกวิธีและเข้มข้นเพียงพอ เรายังมองว่าปัญหาของต้นไม้เป็นปัญหาเล็กๆ เป็นลำดับท้ายๆ ที่คนจะให้ความสำคัญ จนวันหนึ่งถ้ามันล้มใส่ใครคนหนึ่งเสียชีวิต นั่นล่ะมันจะเป็นประเด็นอีกครั้ง และจะเงียบหายไป จนใครสักคนเสียชิวิตอีกคนหนึ่งอย่างนี้ เป็นอย่างนี้ แทนที่เราจะเริ่มดูแลตั้งแต่วันนี้ ซึ่งวนศาสตร์เองเราก็ทำงานร่วมกับหลายหน่วยงาน กรมป่าไม้ กทม. เอง ในการที่จะช่วยทำให้ในส่วนนี้พัฒนาได้ดียิ่งขึ้น

ในส่วนของการดูแลรักษาอาจารย์บอกว่ายังไม่ค่อยสมบูรณ์ยังมีโรคมีแมลงต่างๆ  ในส่วนเรื่องการตัดแต่งกิ่งในกรุงเทพฯ หรือในตัวมหาวิทยาลัยของเราเอง อาจารย์มีความคิดเห็นอย่างไรบ้าง

การตัดแต่งกิ่งที่ผ่านมาในอดีต ส่วนใหญ่จะเป็นการตัดแต่งที่ผิดวิธีคือเราใช้การตัดเพื่อให้ปัญหามันหมดไป เช่นถ้าใบร่วงก็ตัดให้มันไม่มีใบ ถ้ามันสูงก็ตัดให้มันเตี้ย ตรงนี้นี่ล่ะทำให้ต้นไม้นอกจากสุขภาพไม่ดีแล้ว มันยังมีความทรรศนะอุจาด คือมีไม่สวยงามอีกต่างหาก เร็วๆ นี้จนถึงปัจจุบันเราก็เริ่มมีศาสตร์ด้านรุกขกรรมเข้ามา คนที่ดูแลต้นไม้เอง กทม. เอง หรือแม้แต่มหาวิทยาลัยของเราซึ่งก็โดยกองยาน วันศุกร์นี้ผมก็จะไปอบรมให้เจ้าหน้าที่ในการดูแลต้นไม้ตัดแต่งกิ่งของมหาวิทยาลัยเกษตรของเรา อย่าง กทม. เองสองปีมาแล้วต่อเนื่องกันผมได้ออกไปร่วมอบรมให้เจ้าหน้าที่ชุดเขียวๆ ที่อยู่ริมถนนว่าการดูแลต้นไม้ใหญ่ การตัดแต่งกิ่งที่ถูกวิธีทำอย่างไร ตอนนี้มันกำลังขยายออกไปก็กำลังเริ่มต้นกันอยู่ช่วยๆ กัน

พิธีกร ตอนนี้ก็ถือว่าเริ่มต้นไปเริ่มมีการวางแผน เริ่มต้นให้ความรู้กับบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดูแลต้นไม้ รุกขกรต่างๆ ใช่ไหมครับอาจารย์  อันนี้จะเป็นเรื่องราวทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับรุกขกร และต้นไม้ใหญ่ในเมือง ซึ่งอาจารย์ก็ให้ความรู้มากมายในเรื่องของทั้งสถิติต่างๆ ที่เราเองก็เพิ่งรู้ เพิ่งทราบในรายการวันนี้เองว่าเขามีการวางสถิติพื้นที่สีเขียว เมื่อเทียบกับปริมาณพื้นที่ต่อหัวประชากร ในประเทศเราเองถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานมากอยู่เหมือนกันและมีการวางแผนกันเรียบร้อย วันนี้เองเราก็ได้ความรู้ค่อนข้างเยอะ ในเรื่องของถ้าหากว่าเรามีนักศึกษา นักเรียน ที่อยากเป็นรุกขกร สามารถเรียนทางด้านศาสตร์ไหนบ้าง เช่น คณะวนศาสตร์ก็มี หรือจะเป็นคณะพฤกศาสตร์ หรือพืชสวนที่สามารถที่จะเป็นรุกขกรตรงนี้ได้ และได้ประโยชน์อย่างมากในเรื่องของขั้นตอนต่างๆ การตกแต่งกิ่งว่าเราต้องดูอย่างไรอย่างที่อาจารย์บอกเราต้องเน้นวัตถุประสงค์ก่อนว่าเราจะตัดเพื่ออะไร เราจะต้องเน้นในเรื่องหลักของความปลอดภัยเป็นสำคัญ ในช่วงของท้ายรายการได้ข้อมูลค่อนข้างมากพอสมควร

อยากจะให้อาจารย์ฝากกับท่านผู้ชมนะครับว่า อยากจะฝากผู้ชมในเรื่องของการดูแลต้นไม้ใหญ่ทัศนคติต่างๆ หรือการเตรียมตัวที่เราอยากจะทำเกี่ยวกับอาชีพรุกขกร

สุดท้ายอยากจะฝากว่า บ้านเราตอนนี้ยังต้องการคนที่จะมาทำวิชาชีพด้านรุกขกรอีกมาก ตลาดแรงงานต้องการคนที่ทำงานด้านนี้อีกเยอะ เพราะเรามีจำนวนน้อยจริงๆ อยากจะเชิญชวนผู้ที่สนใจหรือน้องๆ ที่สนใจจะศึกษาด้านนี้ คณะวนศาสตร์เองเราก็ได้เปิดสอน ซึ่งอนาคตผมเชื่อว่าเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ถ้าขาดรุกขกรไปแล้ว เราคงมีต้นไม้ มีพื้นที่สีเขียวที่สมบูรณ์ไปไม่ได้ ก็ฝากให้ผู้ที่สนใจยินดีที่ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ติดต่อได้ที่คณะวนศาสตร์

นี่ก็เป็นข้อฝากของอาจาร์ยในเรื่องของการดูแลต้นไม้ใหญ่ หรือการที่จะเข้ามาสู่การเป็นอาชีพรุกขกรต่างๆ สำหรับในวันนี้เองต้องขอขอบพระคุณ อาจารย์พรเทพ เหมือนพงษ์ มากๆ ที่ในวันนี้ได้นำความรู้ของอาจารย์มาเผยแพร่กับชาว KUlibTalk ของเราซึ่งได้ข้อมูลที่สำคัญเป็นอย่างมากในรื่องการดูแลต้นไม้ใหญ่เอย วัตถุประสงค์ใหญ่ๆ ของรุกขกรว่ามีอาชีพนี้ไปเพื่ออะไร และดูแลต้นไม้อย่างไรบ้าง ขั้นตอนที่อาจารย์ได้กล่าวมาค่อนข้างละเอียดพอสมควร และสำหรับในวันนี้เองก็ขอจบรายการเพียงเท่านี้ สำหรับท่านผู้ชมที่อยากจะติดตามข่าวสารในครั้งหน้าจะเป็นใครที่มานั่งให้ความรู้ดีๆ เหมือนในวันนี้สามารถติดตามใน facebookของสำนักหอสมุดได้ หรือจะใช้ช่องทางไลน์โดยจะสามารถแอดที่ไลน์@kulibraryเพียงเท่านี้ท่านสามารถจะติดตามของรายการ KUlibTalk ได้นะครับ ในวันนี้ขอขอบคุณทุกท่านที่ติดตามชมรายการ ขอบคุณนะครับผม สวัสดีครับ

แนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ

1.       Nature abhors a vacuum: deciphering the vegetative reaction of the mango tree to pruning.

2.       Effects of top pruning on seed setting of aged mother trees in orchard of Pinus sylvestris var. mongolica.

3.       Quantifying pruning impacts on olive tree architecture and annual canopy growth by using UAV-based 3D modelling.

4.       Effect of pruning season and tool on knot occlusion and stem discolouration in Betula pendula - situation five years after pruning.

5.       Effect of different pruning intensity on the canopy light distribution and yield and quality in Castaneahenryi.

6.       Knot soundness and occlusion time after artificial pruning of oak.

7.       Mechanical pruning of apple trees as an alternative to manual pruning.

8.       effect of chemical thinning, gibberellic acid and pruning on growth and production of nectarine (Prunus persica (L.) Batsch var. nucipersica) cv. May fire.

9.       The engineering of light distribution enhancement through pruning management towards the production of cocoa tree (Theobroma cacao L.) in Soppeng Regency, South Sulawesi of Indonesia.

10.    Responses of shoot growth, return flowering, and fruit yield to post-pruning practices and growth regulator application in olive trees.

 


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri