KULIB TALK | EP.49 | การปลูกเมล่อนด้วยระบบโซลาร์เซลล์

“เมล่อน ราคาต่อหนึ่งหน่วยสูงกว่าผลไม้อื่น ฉะนั้นถ้าเราดูในเรื่องของการคุ้มค่าในการลงทุน เมล่อนเป็นพืชที่ตอบสนองได้ค่อนข้างดีและก็ดูแลไม่ยากมากเพราะเป็นพืชเมืองร้อน เพราะฉะนั้นในพื้นที่ภาคกลางบริเวณต่างๆในประเทศไทยสามารถปลูกได้ “

ผู้ให้สัมภาษณ์คือ คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ จาก สถานีวิจัยและพัฒนาอาชีพแก่เกษตรกร ศูนย์วิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

คำถาม : แนวคิดในการคิดค้นระบบปลูกเมล่อนด้วยโซลาร์เซลล์

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ : โดยปกติทั่วไปในการปลูกเมล่อนเราก็จะใช้พลังงานจากไฟฟ้านี่แหละครับในการเป็นแหล่งพลังงานในการที่จะขับปั๊มเพื่อที่จะดึงสารละลายธาตุอาหารเข้าระบบ ปัญหาในปัจจุบันคือเกิดปัญหาไฟดับเราก็ไม่สามารถที่จะนำพลังงานไฟฟ้ามาใช้สำหรับขับปั๊มให้ทำงานได้ เราก็มีแนวคิดว่าถ้าเราดึงพลังงานสะอาดจากธรรมชาติโดยเฉพาะพลังงานจากแสงอาทิตย์ที่มีอยู่เยอะนำมาเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าและมาทดแทนสำรองไว้สำหรับการใช้พลังงานในระบบมันก็จะช่วยลดความเสี่ยงในการปลูกพืชได้ เพราะเมล่อนก็เป็นพืชที่ต้องการน้ำและปุ๋ยค่อนข้างเยอะถ้าไฟดับและเราไม่มีไฟสำรองธาตุอาหารไม่เพียงพอมันก็จะทำให้การเจริญเติบโตของเมล่อนดรอปลงไป ฉะนั้นก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางในการนำพลังงานเหล่านี้มาใช้ประโยชน์ได้ นอกจากจะช่วยทดแทนได้ส่วนหนึ่งแล้วก็ยังช่วยลดปัญหาเรื่องอันตรายจากกระแสไฟฟ้าด้วยเพราะพลังงานจากโซลาร์เซลล์เป็นไฟฟ้ากระแสตรงซึ่งคล้ายๆแบตเตอร์รี่ซึ่งก็จะไม่ช็อตคนซึ่งก็สามารถป้องกันได้ระดับหนึ่งอันนี้ก็จะเป็นแนวคิดเบื้องต้น  ในส่วนที่สองเราสามารถที่จะประยุกต์เอาแผงโซลาร์เซลล์มาใช้ในการควบคุมระบบออโตเมติกต่างๆที่ใช้ในโรงเรือนปลูกเมล่อนได้ เช่นในเรื่องของการควบคุมความชื้นอัตโนมัติ เรื่องระบบเซนเซอร์ที่จะส่งข้อมูลทางไกล หรือจะเป็นข้อมูลด้านการถ่ายภาพ เราสามารถประยุกต์ไฟพวกนี้มาใช้ได้หมดเลยครับผม…..

คำถาม : หลักการทำงานของแผงโซลาร์เซลล์ในการปลูกเมล่อนเป็นอย่างไร ?

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ : สำหรับระบบปลูกเมล่อนที่ผมทำอยู่ตอนนี้ที่ใช้แผงโซลาร์เซลล์ เราจะใช้เป็นระบบ on grid ก็คือใช้ระบบร่วมกับไฟบ้านเพื่อจะทดสอบดูว่าเวลาใช้งานจริงจะใช้งานได้ดีขนาดไหน คือหลักการของโซลาร์เซลล์คือการเปลี่ยนพลังงานแสงให้มาเป็นพลังงานกระแสไฟฟ้ากระแสตรง ซึ่งกระบวนการที่จะต้องมาใช้ร่วมกับไฟบ้านคือก็จะต้องมีอุปกรณ์ที่ต้องใช้นะครับ หลังจากที่เราติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เสร็จแล้วเราก็ต้องมีตัวแปลงกระแสไฟฟ้าที่จะต้องชาร์ตเข้าไปในแบตเตอร์รี่หรือที่เราเรียกว่า Solar charger …… นี่สำหรับกรณี off grid นะ….. แต่กรณีถ้าเป็น on grid มันจะมีตู้อัตโนมัติ….ตัวนี้ก็จะแปลงไฟให้เป็นไฟบ้านเลยและสามารถที่จะเอาไปจั๊มรวมกับไฟบ้านได้เลย กรณีที่แสงแดดมีน้อยพลังงานที่ถูกใช้ก็จะเป็นพลังงานที่ใช้จากไฟบ้านซะส่วนใหญ่ แต่กรณีที่แสงแดดมีเยอะพลังงานที่ดึงออกมาใช้ก็จะเป็นพลังงงานจากโซลาร์เซลล์    บ้านเรามีแสงค่อนข้างเยอะฉะนั้นพลังงานที่ใช้ส่วนใหญ่จะดึงมาจากแผงโซลาร์เซลล์ หมายความว่าเราก็จะลดการใช้ค่าไฟปกติลง ค่าใช้จ่าย ต้นทุนด้านไฟฟ้าก็จะลดลง  ในส่วนที่เราเอาไปใช้สำหรับตอนนี้ก็จะเป็นการใช้ในเรื่องของการขับปั๊มสารละลายที่จะอัดเข้าไปในตัวโรงเรือน ในส่วนที่สองก็จะเป็นในเรื่องของระบบออโตเมติกในเรื่องของการตั้งสำหรับการปิด-เปิดสารละลายให้ทำงานอัตโนมัติในช่วงเวลาต่างๆที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของเมล่อน หลักๆตอนนี้ยังใช้อยู่สองอย่าง แต่ในอนาคตเราวางแผนเอาไว้ว่าเราจะนำพลังงานส่วนนี้เอาไปใช้ในส่วนควบคุมในโรงเรือนอีกอีกระบบหนึ่ง เช่นอาจจะทำเป็นระบบโรงเรือนที่ลดอุณหภูมิเพื่อจะทดสอบว่าเมล่อนแต่ละสายพันธุ์ตอบสนองต่ออุณหภูมิอย่างไร และก็จะมีอีกโปรเจคที่เราจะเอาไปใช้ในโรงเรือนผลิตเมล็ดพันธุ์เมล่อนเพื่อที่จะส่งเสริมเกษตรกรสามารถมีเมล็ดพันธุ์ราคาถูกและคุณภาพดีไว้ใช้ครับ

คำถาม : ข้อควรระวังในการใช้สารละลายธาตุอาหารคืออะไร ?

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ : สารละลายธาตุอาหารถ้าเป็นภาษาเกษตรกรเค้าก็จะเรียกปุ๋ย คือปุ๋ยน้ำหรือปุ๋ย ab ที่ใช้สำหรับการปลูกพืชผักไฮโดรโพนิก ปุ๋ยพวกนี้ก็ประกอบไปด้วยธาตุอาหารหลักพวก N P K หรือธาตุอาหารรอง Ca Mg อะไรพวกนี้รวมถึงจุลธาตุต่างๆ ซึ่งมันก็จะมีสัดส่วนที่แตกต่างกันสำหรับพืชแต่ละตัว ถ้าใช้ในพืชผักก็อาจจะเป็นสูตรนึง แต่ถ้าใช้ในพืชผลที่มันต้องใช้ความหวานเช่นเมล่อน หรือมะเขือเทศ เราก็จะต้องมีสูจรธาตุอาหารที่คล้ายๆกันบางตัวอาจจะมาก บางตัวอาจจะน้อย ทีนี้ข้อควรระวังในการใช้คือความเข้มข้น ความเข้มข้นที่เราใช้สำหรับพืชแต่ละชนิดจะไม่เท่ากัน เช่นถ้าเราจะปลูกพืชผักสลัดในรางปลูก ความเข้มข้นไม่ควรเกิน1 : 200 แต่ถ้าเป็นผักไทยที่อยู่ในรางปลูกมันก็ไม่ควรเกิน 1:100 ผักไทยก็เช่น ผักบุ้ง กวางตุ้ง ผักชี แต่ถ้าเป็นเมล่อนเราใช้วัสดุปลูกฉะนั้นความเข้มข้นเราสามารถใช้อยู่ที่ระดับ 1:200 ได้ แต่ก็ไม่ใช่จะใช้ทุกช่วงเพื่อเป็นการประหยัดธาตุอาหาร ในช่วงแรกๆเราอาจจะให้ปุ๋ยที่เจือจางลงก่อนแต่หลังจากที่โตแล้วเราอาจเพิ่มความเข้มข้นจาก 1:200 ให้เป็น 1:100 …..ถ้าเราใช้ปุ๋ยเข้มข้นเกินก็จะส่งผลต่อการดูดซับธาตุอาหารที่มากเกินไปอย่างเช่น ผักที่ปลูกในระบบไฮโดรโปนิกลองนึกภาพว่ารากผักแช่อยู่ในสารละลายถ้าสารละลายมีความเข้มข้นสูงธาตุบางตัวก็จะถูกดึงเข้าไปเยอะนะครับมันก็จะเกิดการสะสม ฉะนั้นถ้าเราคิดว่าเราจะปลูกพืชโดยใช้เทคโนโลยีเหล่านี้เราต้องดูว่าพืชแต่ละชนิดควรใช้ความเข้มข้นเท่าไหร่ ถ้าเราควบคุมให้ได้มาตรฐานการตกค้างของสารก็จะน้อยลงและเราก็จะประหยัดในเรื่องของต้นทุนปุ๋ยด้วย…..เราปลูกในดินเราควบคุมธาตุอาหารยากมากเวลาให้ปุ๋ยไปเราไม่สามารถรู้ได้เลยว่าต้นเมล่อนที่อยู่ในดินดึงไปใช้ได้กี่เปอร์เซนต์หรือใช้ปุ๋ยตัวไหนบ้าง แต่พอมาปลูกในโรงเรือนเราใช้ภาชนะที่ใส่วัสดุปลูกและเราก็คุมการหยดของสารละลายปุ๋ยฉะนั้นการควบคุมธาตุอาหารดีกว่า …. ราสามารถทดสอบได้ว่าเมล่อนพันธุ์ไหนสามารถที่จะตอบสนองต่อปุ๋ยได้ดี ฉะนั้นเราก็จะคุมคุณภาพได้ดีกว่า….

คำถาม : ข้อดีของการปลูกเมล่อนด้วยโซลาร์เซลล์คืออะไร ?

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ : ข้อดีอันแรกเลยคือประหยัดค่าไฟ เราสามารถใช้พลังงานแสงที่มีอยู่ในบ้านเรา(ประเทศไทย)เยอะแยะเอามาเปลี่ยนเป็นไฟฟ้าคือประหยัดต้นทุนแน่นอน ข้อดีข้อที่สองคือโซลาร์เซลสามารถที่จะเอามาประยุกต์ในเรื่องของการบรรจุไฟเก็บไว้ในแบตเตอร์รี่หรือแหล่งเก็บพลังงานต่างๆได้ สมมุติว่าเราต้องการใช้ไฟช่วงกลางคืนเราก็สามารถที่จะเอาไฟจากโซลาร์เซลล์ชาร์ตเก็บเข้าแบตเตอร์รี่ไว้พอถึงช่วงกลางคืนเราก็เอาพลังงานที่เราเก็บไว้เอามาใช้ถือเป็นระบบสำรองไฟอีกระบบหนึ่ง ส่วนข้อดีอีกข้อที่ผมได้กล่าวไปคือความปลอดภัยเพราะโซลาร์เซลล์เป็นไฟกระแสตรง เช่นถ้าเรามีเด็กเล็กเล่นซนถ้าไปเล่นโดนไฟที่ออกมาจากโซลาร์เซลล์ก็ไม่ต้องกลัวไฟช็อต แต่สิ่งที่ควรจะต้องระวังในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ก็คือจุดต่อเพราะว่าไฟจากโซลาร์เซลล์จะทำงานในช่วงระยะเวลาที่มีแสงฉะนั้นในช่วงที่มีแสงมันก็จะทำงานตลอดเวลาถึงแม้เราระบบหลังจากนั้นเราตัดไฟไม่ใช้แล้ว แต่ไฟในโซลาร์เซลล์ก็จะไหลผ่านสายมาตลอดถ้าขั้วต่อไม่แน่นมันจะเกิดอาการช็อตและไฟก็จะทำให้เกิดอัคคีภัยได้ เพราะงั้นระบบการติดตั้งควรแยกส่วนออกจากตัวบ้าน เพราะถ้าเกิดว่าถ้าเราติดไว้บนหลังคาบ้านถ้าเกิดการรั่วขึ้นมาอาจจะทำให้ไฟไหม้บ้านได้….

คำถาม : เราสามารถดัดแปลงไปใช้กับพืชชนิดอื่นได้หรือไม่

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ : สำหรับระบบโซลาร์เซลล์ที่เราเอามาใช้หลักๆคือการผลิตพลังงานเพื่อใช้ในระบบไม่ว่าจะเป็นการใช้โดยตรงหมายถึงว่าจากแผงโซลาร์เซลล์แล้วใช้เข้าไปในระบบเลย หรือการสำรองไฟไว้ใช้มันสามารถที่จะประยุกต์ใช้กับพืชอื่นได้เยอะแยะเลยไม่ว่าจะเป็นพืชในโรงเรือนหรือนอกโรงเรือนเราสามารถที่จะเอามาประยุกต์ในเรื่องของการให้น้ำ ให้ปุ๋ยได้เลยครับ เพราะว่าเป็นแรงไฟที่เราสามารถดัดแปลงประยุกต์ใช้ได้เลย อย่างพืชผักสวนครัวก็สามารถปลูกได้หรือพืชไม้ผล ไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะม่วง ต้นขนุน เราก็สามารถนำเอาโซลาร์เซลล์มาดัดแปลงเป็นพลังงานในการฉุดตัวปั๊มสารละลายให้ไปทำงานได้  เราอาจจะไม่ได้ใช้ฉุดในเรื่องของปั๊มน้ำอย่างเดียว ทุกวันนี้มีระบบประปาเราอาจจะเอาโซลาร์เซลล์หรือเอาไฟฟ้าที่ได้จากโซลาร์เซลล์เอาไปคุมวาล์วไฟฟ้าหรือโซลินอยด์วาล์วในการปิดเปิดโดยผ่านตัวไทม์เมอร์อีกทีหนึ่ง …..ฉะนั้นถ้าเรามีบ้านหลังหนึ่งโดยใช้โซลาร์เซลล์เราจัดการเอามาผ่านไทม์เมอร์และมาผ่านโซลินอยวาล์วเราสามารถที่จะให้น้ำทำงานได้ตามเวลาที่ต้องการได้เลย ถึงแม้เราไม่อยู่บ้านแต่ต้นไม้เราก็จะสามารถที่จะได้รับน้ำตามที่เราต้องการได้ครับ….

คำถาม : การลงทุนและการดูแลรักษาระบบเป็นอย่างไร ?

คุณศรันย์ หงษาครประเสริฐ : เรื่องของต้นทุนขึ้นอยู่กับการใช้งานครับ อย่างเช่นของผมที่ทำการทดสอบก็จะสำหรับโรงเรือนสองถึงสามโรง หนึ่งโรงมีเนื้อที่ประมาณ 150 ตารางเมตร 3โรงก็จะตกประมาณ สี่ร้อยกว่าตารางเมตร เราก็จะใช้แผงประมาณ 4 -5 แผง ต้นทุนเฉพาะค่าแผงประมาณหมื่นกว่าบาทรวมระบบควบคุมด้วยก็ประมาณอีกสี่หมื่นกว่า เพราะงั้นค่าทุนเบ็ดเสร็จคำนวณออกมแล้วประมาณหลักแสน คำนวณออกมาแล้วหาค่า irr ก็คุ้มต้นทุนนะครับ irr อยู่ประมาณ 14 %  ถ้าเราจะเอามาใช้ในโครงการแล้วเราใช้ระบบนี้จะคืนทุนในระยะเวลาประมาณ3ปี แต่นั่นก็หมายความว่าเราต้องดูแลด้วยเพราะเมล่อนเป็นพืชที่ต้องการทักษะในการดูแลค่อนข้างเยอะตลอดช่วงเวลาเจริญเติบโต เช่น ถ้าเราปลูกแล้วเราไม่ดูแลเรื่องกิ่งแขนง แทนที่เราจะได้ยอดใหญ่ๆที่เป็นต้นหลัก เราก็จะไม่ได้ มันก็จะไปเจริญเติบโตที่กิ่งแขนงแทนฉะนั้นเราก็ต้องคอยตัดแต่งเพื่อให้ได้เป็นต้นเดียว เลี้ยงใบให้สมบูรณที่สุด ในหนึ่งต้นเราจะเลี้ยงเมล่อนหนึ่งลูกเพื่อคุณภาพที่เต็มที่ ในเรื่องของต้นทุนมันขึ้นอยู่กับการดูแล แต่โดยทั่วๆไปในการปลูกแบบระบบนี้จะคืนทุนภายในระยะเวลาสามปี ภายในพื้นที่ประมาณ 400ตารางเมตร ก็จะได้เมล่อนประมาณเกือบสองพันลูกครับ ถ้าเราดูแลดีอาจจะเสียหายแค่ 5-10 %  แต่ถ้าเราดูแลไม่ดีแล้วเมล่อนเสียหายไปครึ่งโรง การคืนทุนก็จะยื้อออกไป แต่ถ้าเราทำเมล่อนเป้นธุรกิจแล้วตายไปครึ่งโรงแสดงว่าไม่ใช่ทางเราแล้วอาจจะต้องหาพืชอื่นมาทดแทนเพราะพืชที่มีมูลค่าก็มีเยอะหลายตัว สมมุติถ้าเราอยู่ภาคเหนืออุณหภูมิต่ำๆเราก็สามารถที่จะปลูกพริกหยวก พริกหวาน ไม้ดอกไม้ประดับได้ สามารถประยุกต์ไปได้หลายทางครับ

แนะนำทรัพยากรสารสนเทศที่น่าสนใจ

รวมผลงานของคุณศรันย์ หงษาครประเสริฐในคลังความรู้ดิจิตัล มก.

ชุดปลูกเมล่อนพลังงานแสงอาทิตย์

My little farm vol. 7 : เมลอนอินทรีย์ 

ราชินีพืชตระกูลแตง เมล่อน พืชทำเงิน ปลูกได้ราคางาม

คู่มือการปลูกเมล่อนชีวภาพ เกษตรทางเลือกใหม่

แบบอย่าง--และแนวทางการปลูกเมล่อนคนเมือง

ปลูกเมล่อนในโรงเรือน


 
 
 
1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri