Digital Insight กับการทำธุรกิจในยุค New Normal 2022

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

            หากกล่าวถึงการทำธุรกิจในยุค New Normal ปี 2022 นี้ หลังจากที่ผ่านสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาได้ประมาณ 2 ปีแล้วนั้น ย่อมต้องมีการปรับตัวไปในหลาย ๆ ภาคส่วน โดยเฉพาะหลายธุรกิจ ที่ยิ่งปีนี้ก็ยังคงต้องเดินหน้าท่ามกลางสภาวการณ์ที่ยังไม่ปกติสักเท่าไร สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนมากขึ้นคือ การเกิดขึ้นของเศรษฐกิจในรูปแบบ เศรษฐกิจเชิงแบ่งปัน (Sharing Economy) อันสืบเนื่องมาจากหลายปัจจัยที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดผลกระทบที่กลายเป็นรูปแบบนี้ กล่าวคือ เป็นการที่ธุรกิจต่างเป็นเจ้าของร่วมกัน ไม่ได้มีธุรกิจใดเป็นเจ้าของทรัพยากรแต่เพียงผู้เดียว มีการแบ่งปันกันเกิดขึ้นระหว่างธุรกิจด้วยกันเอง และอาจรวมไปถึงระหว่างเจ้าของธุรกิจกับลูกค้า ซึ่ง ดร.วิรไท สันติประภพ อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เคยกล่าวไว้อย่างน่าสนใจ ที่ทำให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่า มี 4 เรื่องสำคัญที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย อันจะต้องนำไปสู่การที่ธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัว ประกอบด้วย เทคโนโลยี ห่วงโซ่การผลิต ภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากร (ที่ในประเทศไทยเริ่มจะเข้าสู่ยุคที่ประชากรผู้สูงอายุมีมากกว่าวัยทำงาน) (ธนาคารแห่งประเทศไทย, 2563)

 

        จากในแง่ดังกล่าวข้างต้น จะเห็นได้ว่า มีหลายสิ่งที่ต้องมองเพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้ ดังเช่น เรื่องของเทคโนโลยี ที่มีการเปลี่ยนแพลตฟอร์มให้เป็นไปในรูปแบบออนไลน์ เพื่อรองรับ food delivery มากขึ้น หากธุรกิจใดไม่ปรับตัวให้เข้ากับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคนี้ที่เปลี่ยนแปลงไป ก็ย่อมจะต้องถอยลงค่อย ๆ ล้มหายตายจากไป รวมถึงห่วงโซ่ของการผลิต ที่อาจเป็นผลมาจากเทคโนโลยีเช่นกัน จากที่เมื่อก่อนมีการกระจายการตั้งศูนย์การผลิตไปอยู่ในหลาย ๆ แห่งทั่วโลกที่เป็นเจ้าของวัตถุดิบเอง ปัจจุบันก็อาจปรับเปลี่ยนกลับมาตั้งศูนย์อยู่เพียงภายในประเทศ หรือเลือกตั้งในประเทศผู้บริโภคปลายทางแทน โดยมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการลดข้อจำกัดต่าง ๆ ทำให้รวดเร็ว ประหยัดเวลา ค่าใช้จ่าย และเกิดความคุ้มทุนกับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมานี้ย่อมหมายถึง การใช้หลัก Digital Insight ในการทำธุรกิจด้วย อันเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในยุคนี้

            ดังที่ รศ.ดร.วิเลิศ ภูริวัชร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CBS Chula) ได้กล่าวสรุปเกี่ยวกับ Digital Insight ไว้ 5 ประการ ในงานสัมมนา Unlock The Future 2022 : Creating the business knock-out variant ปลดล็อคอนาคตสู่การตลาดยุคใหม่ ที่จัดโดย Brand Buffet ว่าประกอบด้วย

1) การทำความเข้าใจ Insight ของผู้บริโภคว่ามีโลก 2 ใบในยุค Metaverse กล่าวคือ ต้องพิจารณาในอีกโลกหนึ่งที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นนอกจากโลกจริงประกอบด้วย เพราะส่วนใหญ่มักจะเป็นสิ่งที่ต้องการแท้จริง ซึ่งในโลกจริงทำไม่ได้ หากต้องการทำธุรกิจให้ตรงจุดก็ต้องตอบสนองตรงจุดนี้ แต่ในบางเรื่องก็ไม่อาจเหมารวมได้ทั้งหมดเช่นกัน เพราะในโลกเสมือนจริงที่ผู้บริโภคสร้างขึ้นมาอีกใบหนึ่งนั้น อาจไม่ใช่เรื่องจริงก็เป็นได้ จึงจำเป็นที่ต้องมีการวิเคราะห์อย่างถี่ถ้วน

2) Big Data ไม่สู้ Best Data กล่าวคือ หากมีปริมาณข้อมูลที่ค่อนข้างมาก แต่หากไม่ใช่ Hit Data อันนำไปสู่ Best Data ได้นั้นก็อาจไม่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก เนื่องจากในความเป็นจริง ไม่จำเป็นต้องมีข้อมูลที่มาก แต่ขอให้เป็นข้อมูลที่ถูกต้องก็พอ

3) Digital Transform จะต้องขับเคลื่อนไปทั้งองค์กรพร้อมกัน กล่าวคือ การที่องค์กรต้องทำให้บุคลากรมีความสุข มองว่าได้รับประโยชน์ที่ตัวเองก่อน จึงจะสามารถเต็มใจไปช่วยขับเคลื่อนองค์กรต่อได้นั้น ถือเป็นสิ่งจำเป็นยิ่งกว่าการพยายามทำให้บุคลากรช่วยกันขับเคลื่อนหรือมองที่ประโยชน์ขององค์กรก่อนเป็นหลัก

4) ต้องมี Life Skill เพิ่มขึ้นในยุคแห่งดิจิทัล กล่าวคือ ในเพียงการ Reskill กับ Upskill นั้นอาจไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว ทักษะในการใช้ชีวิตที่สอดรับกับนวัตกรรมใหม่ จึงอาจเป็นสิ่งต้องมี  

5) เปลี่ยนกลยุทธ์การตลาดในยุค Metaverse กล่าวคือ เปลี่ยน Digital Tool เป็น Digital Insight เปลี่ยน Technology เป็น Touchnology เปลี่ยน Artificial Intelligence (AI)  เป็น Emotional Intelligence (EI) และเปลี่ยน Consumer Experience Management (CEM) เป็น  Digital Experience Management (DEM) ซึ่งหมายความว่า กลยุทธ์แบบใหม่ในยุคนี้นั้น ต้องเน้นให้ผู้บริโภครับรู้ได้ในทั้งประสาทสัมผัสทั้ง 5 หรือรวมไปถึงการตอบสนองในสภาวะทางจิตใจด้านอื่น ๆ ดังเช่นการที่ในหลาย ๆ ธุรกิจเริ่มตอบสนองต่อการผลิตสินค้าหรือทำธุรกิจในเชิงรักษ์โลก เน้นความยั่งยืน หรือธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคมมากขึ้น

            กรณีตัวอย่างดังเช่น สถาบันไทยพัฒน์ ที่ได้มีการพัฒนาธุรกิจในปี 2022 นี้ ในแง่ของการที่เรียกว่า Social Positive Business หรือ ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม โดยปรับเปลี่ยนทิศทางจากเดิมแนวคิด Net Zero มาเป็น Social Positive โดยมีการวางแผนไว้ใน 6 ทิศทาง ที่ถือเป็น CSR ประจำปี 2022 ประกอบด้วย ธุรกิจระบบอาหารและการเกษตรแบบเจริญทดแทน (Regenerative Agriculture & Food System) ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ (Biotechnology) ธุรกิจทรัพยากรหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก (Renewable Resources & Alternative Energy) ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนประกอบ (Electric Vehicles & Components) ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเพื่อสังคม (Social Digital Assets) และธุรกิจเมตาแวร์เพื่อกลุ่มเปราะบาง (Metaware for Vulnerable Groups) (พิพัฒน์ ยอดพฤติการ, 2565)

            นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนของธุรกิจที่เน้นทำเพื่อรักษ์โลก อาทิ Tesla (ธุรกิจพลังงานไฟฟ้า) Freitag (ธุรกิจแฟชั่นรีไซเคิล) Mosameat (ธุรกิจอาหารทดแทน) Happi (ธุรกิจเพื่อลดปัญหาขยะย่อยสลายยาก) และ P&G (ธุรกิจเพื่อแก้ปัญหามลพิษในน้ำ) เป็นต้น หรือหากเป็นธุรกิจทางด้านอาหาร เทรนด์ในปี 2022 นี้ ก็มีที่น่าสนใจใน 5 ลักษณะด้วยกัน ได้แก่ อาหารเพื่อสุขภาพ – กินดี ได้ดี (Healthier Indulgence) อาหารไทย ดีต่อใจ (Thai Taste Therapy) อาหารเชิงท่องเที่ยว (Gastronomy Tourism & Adventuristic Food) อาหารหลากหลายทางชีวภาพ ดีต่อสุขภาพ ช่วยธรรมชาติยั่งยืน (Biodiversity: Better Me, Better World) และอาหารเดลิเวอรี่ ไม่ใช่แค่ทางเลือกอีกต่อไป (Food Delivery) อีกทั้งยังมีเทรนด์ที่น่าสนใจในช่วงปีนี้ ที่ Scott Belsky รองประธานบริหาร Adobe Creative Cloud ได้กล่าวไว้เพื่อเป็นมุมมองสำหรับเป็นแนวทางให้ธุรกิจอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากอาหารได้นำไปปรับใช้ได้ด้วยในอนาคต โดยมี 10 เทรนด์ แต่มีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจคือ การที่คนรุ่นใหม่ต้องการประกอบอาชีพหลายด้านไปพร้อมกัน ที่เรียกว่า “Polygamous Careers” รวมถึงการที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบไลฟ์สไตล์แบบ Nomad คือ การนิยมเปลี่ยนที่พักไปเรื่อย ๆ เพื่อดื่มด่ำประสบการณ์ มากกว่าการทำงานอยู่กับที่แบบเดิม ๆ และมีแนวคิดทางด้านอาชีพในลักษณะของ “Eduployment” เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตของธุรกิจขนาดเล็ก

            ซึ่งจะเห็นได้ว่า ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจอะไรก็ตามในยุค New Normal 2022 นี้ ก็ล้วนให้ความสำคัญกับหลัก Digital Insight ที่กล่าวมาแล้วข้างต้นมากขึ้น รวมถึงทั้งที่สรุปเป็นเทรนด์ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูล ทำการวิเคราะห์และกำหนดทิศทางให้ตรงใจผู้บริโภคได้มากขึ้นและเกิดผลดีในระยะยาว ซึ่งในช่วงภายหลังมานี้ที่ผู้บริโภคต่างก็ประสบกับปัญหารอบด้านมากมาย จึงทำให้เริ่มหันมาปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต มุมมองไปในเชิงของการตอบสนองเพื่อเยียวยาสภาวะจิตใจ รวมไปถึงการมองโลกในแง่บวก หรือตอบแทนสังคมมากขึ้น

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

ธนาคารแห่งประเทศไทย. (2563). ธุรกิจไทยปรับตัวอย่างไร ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงของโลก. สืบค้นจาก https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256301Conversation.aspx

พิพัฒน์ ยอดพฤติการ. (2565). Social Positive Business : ธุรกิจที่เป็นบวกต่อสังคม. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/business/990515

Brand Buffet – Team. (2565). 5 เทรนด์อาหารกำลังมาแรงปี 2022 [PR]. สืบค้นจาก https://www.brandbuffet.in.th/2022/01/unilever-food-solutions-x-trend-watch-2022/

Jan (นามแฝง). (2565). เจาะ 5 เทรนด์ ‘ดิจิทัล อินไซต์’ เข้าใจโลก 2 ใบของผู้บริโภคในยุค Metaverse. สืบค้นจาก https://www.brandbuffet.in.th/2022/02/5-digital-insights-from-cbs-chula/

Krungsri Plearn Plearn. (2564). 5 ธุรกิจยุคใหม่ ที่สนใจสิ่งแวดล้อมมากกว่ากำไร. สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/plearn-plearn/environment-esg-business

Mrs.OK (นามแฝง). (2565). Adobe เปิด 10 เทรนด์อนาคต เมื่อคนรุ่นใหม่สนใจ “Polygamous Careers” คนเดียว แต่หลายความสามารถ. สืบค้นจาก https://www.brandbuffet.in.th/2022/02/adobe-the-near-future-of-technology/

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Akter, S., Michael, K., Uddin, M. R., McCarthy, G. & Rahman, M. (2022). Transforming business using digital innovations: the application of AI, blockchain, cloud and data analytics. Annals of Operations Research, 308(1/2: 7-39. Retrieved from https://cutt.ly/rAX3dzN

Aloini, D., Latronico, L. & Pellegrini, L. (2021). The impact of digital technologies on business models. Insights from the space industry. Measuring Business Excellence, 26(1): 64-80. Retrieved from https://cutt.ly/fAXVlNw

Chiang, H. T., Lin, Y. C. & Chen, W. W. (2022). Does family business affect the relationship between corporate

social responsibility and brand value? A study in different industry Taiwan. Asia Pacific Management Review, 27(1): 28-39. Retrieved from https://cutt.ly/9AX9egU

Hanelt, A., Bohnsack, R., Marz, D. & Marante, C. A. (2021). Journal of Management Studies. 58(5): 1159-1197.

Retrieved from https://cutt.ly/YAX1uFY

Langley, D. J. (2022). Digital Product-Service Systems: The Role of Data in the Transition to Servitization Business Models. Sustainability, 14(3): 1303. Retrieved from https://cutt.ly/2AX33SR

Pavez, I. & Laszlo, C. (2022). Positive-Impact Companies: Designing Business Organizations as Positive Institutions. AI Practitioner, 24(1): 16-35. Retrieved from https://cutt.ly/YAX9HIB

Zhao, X., Liu, Y., Xie, Y. & Fan, J. (2021). Firm-level digital transformation affects individual-level innovative behavior: Evidence from manufacturing firms in China. Social Behavior & Personality: an international journal. 49(11): 1-12. Retrieved from https://cutt.ly/dAXNVFF

Zhu, Y., Wang, V. L., Wang, Y. J. & Nastos, J. (2020). Business-to-business referral as digital coopetition strategy : Insights from an industry-wise digital business network. European Journal of Marketing, 54(6): 1181-1203. Retrieved from https://cutt.ly/CAXBRUC


1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri