รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle: EV)

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

            รถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle) ในยุคนี้ เริ่มมีให้เห็นกันแพร่หลายมากขึ้น ซึ่งในอนาคตจะเป็นเรื่องที่ต้องมีการพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดนิ่งแน่นอน โดยเฉพาะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อสภาวะแวดล้อมที่ทั่วโลกต่างให้ความสนใจ การ์ทเนอร์ ได้สรุปเทคโนโลยีสำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2565 นี้ ไว้อย่างน่าสนใจจำนวน 5 ข้อ คือ 1) ผู้ผลิตรถยนต์จะทบทวนแนวทางการจัดหาชิ้นส่วน (Hardware) ใหม่ กล่าวคือ เนื่องจากการพยายามยึดหลักการให้มีสินค้าคงคลังแบบ Just-In-Time (JIT) แบบทันเวลาพอดี แต่กลับส่งผลให้ขาดแคลนชิ้นส่วนในบางช่วง จึงคาดว่าในปี 2568 อาจปรับเปลี่ยนให้เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ได้ด้วยตัวเอง เพื่อป้องกันปัญหานี้ 2) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศยานยนต์ กล่าวคือ บริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่จะเข้ามาเกี่ยวข้องมากขึ้น เช่น อาจมีการปรับให้ใช้ระบบปฏิบัติการ Android เพิ่มขึ้นในรถยนต์ เป็นต้น 3) โมเดลข้อมูลและความร่วมมือแบบเปิด (Open Data and Open-Source Collaboration) จะสร้างความสำเร็จต่อเนื่อง กล่าวคือ แพลตฟอร์มรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า (EV) แบบเปิด มีการพัฒนาระบบดิจิทัลหรือฟีเจอร์ใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในรถยนต์ได้ 4) ผู้ผลิตรถยนต์เพิ่มระบบอัปเดทซอฟต์แวร์แบบ Over-The-Air (OTA) เป็นช่องทางสร้างรายได้หลักบนดิจิทัล กล่าวคือ คาดว่าในปี 2566 กว่า 50% ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำ 10 อันดับแรก จะนำเสนอความสามารถในการปลดล็อคและอัปเกรดผ่านการอัปเดทซอฟต์แวร์ที่สามารถซื้อได้หลังการจำหน่ายรถยนต์ 5) ยานยนต์ไร้คนขับกับกฎระเบียบเพิ่มเติมและอุปสรรคเชิงพาณิชย์ที่ยังไม่หายไปไหน กล่าวคือ เป็นการพัฒนาให้รถยนต์สามารถเคลื่อนที่ได้โดยปราศจากคนขับ ซึ่งการ์ทเนอร์คาดการณ์ว่า ประมาณปี 2573 ทั่วโลกจะมีรถยนต์ขับเคลื่อนเช่นนี้ในเชิงพาณิชย์ ระดับ 4 ซึ่งก็คือรถบรรทุกไร้คนขับ โดยเปิดบริการสูงกว่ารถแท็กซี่ในปัจจุบันถึง 4 เท่า (กองบรรณาธิการ AV Tech Guide, 2565)

 

             ประเทศจีน ถือเป็นประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเศรษฐกิจที่ส่งผลมาจากอุตสาหกรรมยานยนต์ในเกณฑ์ที่มาก กล่าวได้ว่า คิดเป็นร้อยละ 51 ของโลกเลยก็ว่าได้ที่อุตสาหกรรมยานยนต์ในประเภทของรถยนต์ไฟฟ้ากำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และครอบครองส่วนแบ่งทางการตลาดที่อาจส่งผลต่อเศรษฐกิจของจีนให้ดีขึ้นได้เป็นอย่างมาก ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา-2019 อันทำให้ยอดจำหน่ายของรถยนต์น้อยลง แต่ในทางกลับกัน รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศจีนกลับมียอดการจำหน่ายที่สูงขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งอาจมาจาก 2 ปัจจัยสำคัญ คือ ความพร้อมทางด้านเทคโนโลยี และการที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า ทั้งนี้ รองจากประเทศจีน ก็จะเป็นเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น ในส่วนของประเทศไทยเองนั้น ถือเป็นประเทศที่มีการส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์เป็นอันดับ 3 ให้กับประเทศจีน ซึ่งจากจุดนี้เองที่ประเทศไทยอาจค่อยเริ่มปรับตัวพัฒนาให้ดีขึ้นได้ในอนาคต เนื่องจากตอนนี้จีนก็กำลังพัฒนาตลาดแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปในระดับโลกอยู่เช่นกัน

            ในส่วนของประเทศญี่ปุ่นนั้น ก็ได้มีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องเช่นกัน จากเดิมที่พยายามเร่งสร้างรถยนต์ไฮบริดขึ้นมาจนประสบความสำเร็จ แม้จะใช้ระยะเวลานาน แต่ในยุคนี้ที่เป็นกระแสของรถยนต์ไฟฟ้าที่มาจากยุโรป ส่งผลให้บริษัทยานยนต์ต่าง ๆ ในประเทศญี่ปุ่นต้องคำนึงว่าจะปรับตัวตามหรือไม่ ท้ายสุดแล้ว หลังจากที่นิสสันได้เริ่มผลิตออกมา โตโยต้าก็ได้ตัดสินใจร่วมมือกับมาสด้าเพื่อผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแล้วเช่นกัน ซึ่งจริง ๆ แล้วแม้จะผ่านมาเป็นระยะเวลาพอสมควร แต่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าก็มียังเพียง 0.1% เท่านั้น เนื่องจากยังมีข้อจำกัดหลายอย่างที่ทำให้เกิดความไม่แน่ใจ เป็นต้นว่า สถานีชาร์จแบตเตอรี่มีเพียงพอหรือไม่ รถยนต์ไฟฟ้าช่วยประหยัดน้ำมันหรือทดแทนได้จริงหรือ รวมไปถึงหากเกิดขึ้นจริงต่อไปในปริมาณที่มากขึ้นแล้ว อาจส่งผลต่อการจ้างงานอื่น ๆ ที่ทำให้ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาคนแล้วหรือไม่ เพราะจะมีความเรียบง่ายมากขึ้น ให้กลายเป็นเรื่องของเทคโนโลยีและดิจิทัลแทน เป็นต้น เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องที่หลายคนส่วนใหญต้องการทราบข้อมูลที่แน่ชัดก่อนตัดสินใจ แม้ว่าในญี่ปุ่นเองจะมีสถานีชาร์จแบตเตอรี่จำนวนมากแล้วก็ตาม ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทยก็สามารถนำบทเรียนนี้ไปวิเคราะห์และพัฒนาต่อได้ ดังเช่น การที่ประเทศไทยเองอาจพัฒนาให้แบตเตอรี่มีความคงทน ใช้งานได้นานขึ้น หรือช่วยให้รถยนต์วิ่งได้เร็วขึ้น เป็นต้น ซึ่งหากพัฒนาได้เช่นนั้น ก็จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นผู้ส่งออกอะไหล่อันดับต้น ๆ ของโลกต่อไปได้ นอกจากนี้ บริษัท Sony ยังได้วางแผนจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้า โดยจะเปิดตัวในปลายปี 2565 นี้เช่นกัน ในลักษณะของรถสปอร์ตยูทิลิตี้แนวคิดใหม่ อีกทั้งวางแผนก่อตั้งบริษัทลูกเพื่อรองรับอีกด้วย

               ในกรณีของประเทศไทยนั้น นอกจากเทรนด์ในปี 2565 ตามที่กล่าวมาข้างต้นที่ต้องคำนึงถึงแล้ว ก็ยังได้มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าจาก 4 องค์ประกอบหลัก อันได้แก่ ความต้องการของตลาด (Demand) กล่าวคือ มีความต้องการใช้มากขึ้น มีความสนใจ แต่ยังมีปัจจัยอื่นที่ยังทำให้ลังเลอยู่ 2) ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (Supply) กล่าวคือ หลายบริษัทที่เป็นอุตสาหกรรมยานยนต์ต่างก็ต้องการปรับตัว โดยให้ความสนใจ 3 รูปแบบ คือ รถยนต์ไฟฟ้า 100% (Battery Electric Vehicle – BEV) รถยนต์ไฟฟ้าผสม (Hybrid Electric Vehicle – HEV) และรถยนต์ไฟฟ้าแบบผสมเสียบปลั๊ก (Plug-In Hybrid Electric Vehicle – PHEV) 3) โครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) กล่าวคือ จากการที่ประเทศไทยสามารถเป็นแหล่งส่งออกชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ได้อย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาต่อไปได้ และ 4) สถานการณ์ที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง (Disruption) อันได้แก่ การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม และจากปัจจัยทางด้านน้ำมันที่ราคาค่อนข้างสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในประเทศไทยเอง ก็ได้มีสถานีชาร์จไฟด่วนเกิดขึ้น ตั้งอยู่ที่ใจกลางสยามสแควร์ ชื่อว่า G-Charge Supercharging Station สถานีอัดประจุไฟฟ้า DC Fast Charge แห่งแรกของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ด้วยเครื่องอัดประจุไฟฟ้าแบบกระแสตรง DC กำลังสูงสุดขนาด 160kW จำนวน 3 เครื่องชาร์จ โดยมีหัวชาร์จแบบ CCS Type 2 เครื่องละ 2 หัวจ่าย รวมทั้งหมด 6 หัวจ่าย (Marketing Oops!, 2564) ตัวอย่างกรณีในประเทศไทยที่เห็นได้ชัดเจนอีกกรณีหนึ่งคือ ปตท. ที่ขานรับการใช้รถยนต์ไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นผลักดันให้มีศูนย์ EV Charging Station ที่รองรับทั้งแบบ PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) และแบบ BEV (Battery Electric Vehicle) ในรูปแบบที่ใช้งานง่ายผ่านการจองผ่านโทรศัพท์มือถือที่รองรับทั้งระบบ IOS และ Android ตามคอนเซปต์ที่ว่า จอง จอด จ่าย ง่าย ๆ แค่ปลายนิ้ว ซึ่ง ณ ปัจจุบันได้จัดตั้งสถานีแห่งที่ 3 แล้ว ที่ศูนย์เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการมา เพื่อตอบรับนโยบายพลังงานสะอาด ที่นอกเหนือไปจากพลังงานอนาคตที่ตั้งไว้เดิม

            นอกจากนี้ กรณีฝั่งสหรัฐอเมริกาจะพบว่า “โจ ไบเดน” ประธานาธิบดี ได้เคยแถลงการณ์ไว้ว่า ต้องการจะให้ภายในปี 2030 รถยนต์กว่า 50% เป็นรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งมองว่าในสมัยของประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าใดนัก แต่แม้ว่าตามนโยบายของ โจ ไบเดน ที่ดูจะมีทิศทางชัดเจนแล้วนั้น ในกลุ่มเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมกลับมองว่า เป็นนโยบายที่ช้าจนเกินไป ควรมีมาตรการที่เร่งให้ลดการปล่อยก๊าซให้เป็นศูนย์ได้เร็วกว่านี้

            กล่าวโดยสรุปพบว่าประเทศที่มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด หรือมีความสนใจมานาน เตรียมพร้อมมาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา นอร์เวย์ สวีเดน ไอซ์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ และอันดอร์ร่า โดยภาพรวมจะเห็นว่า รัฐบาลของแต่ละประเทศนั้นได้มีมาตรการกระตุ้นให้คนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้ากันมากขึ้นด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การลดภาษี ทั้งจากผู้ซื้อ และผู้ขายที่เป็นบริษัทนำเข้า การเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ สำหรับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า การพัฒนา/ปรับปรุงเพิ่มสิ่งที่จะเกิดประโยชน์กับผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าในเขตเมืองต่าง ๆ เป็นต้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่ทำให้รถยนต์ไฟฟ้ากลายเป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลกได้เลยคือ ลดการปล่อยของเสีย และซ่อมบำรุงง่าย เนื่องจากมีอุปกรณ์ไม่มาก การผลิตไม่ซับซ้อน อีกทั้งส่งผลให้รถยนต์มีน้ำหนักเบาขึ้น เอื้อต่อการขับเคลื่อน

           

            นอกจากนี้ ในปัจจุบันการแข่งขันด้าน climate tech เช่น เทคโนโลยีการผลิตพลังงานหมุนเวียน รถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ และเทคโนโลยีไฮโดรเจน มีมิติในการแข่งขันหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพื่อลดราคาพลังงานในประเทศและลดการพึ่งพาการนำเข้าพลังงาน การสร้างอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อความเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและเพื่อการส่งออก หรือการเร่งพัฒนาอุตสาหกรรมที่สำคัญในห่วงโซ่คุณค่า ซึ่งรวมถึง semiconductor เหมืองแร่ หรือแม้แต่การรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และแบตเตอรี่จากรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แนวคิดของ circular economy เป็นต้น นอกจากนี้ EIC มองว่า เทรนด์ด้าน Net Zero มี 3 ประการที่น่าสนใจ คือ 1) การพัฒนา Green Taxonomy หรือการจำแนกหมวดหมู่สำหรับกิจกรรมสีเขียวของประเทศต่าง ๆ ซึ่งในทุกวันนี้ยังไม่มี และมีหลายธุรกิจที่แอบอ้างว่าตนทำกิจกรรมเชิงบวก/สีเขียว ทั้งที่ความเป็นจริงอาจไม่ใช่ ต่อไปหากมีการจำแนกอย่างชัดเจน ก็จะส่งผลต่อการหาแหล่งเงินทุนได้ง่ายมากขึ้นด้วย 2) Net zero supply chain คือการทำให้ Supplier บรรลุเป้าหมายของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ โดยอาจเริ่มจากการคำนวน Carbon Footprint เป็นต้น 3)  การลงทุนใน climate tech เป็นการกระตุ้นให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาใช้มากขึ้น โดยเฉพาะในเชิงพาณิชย์

            ประเด็นที่น่าสนใจอีกประเด็นหนึ่งคือ Gary Silberg หัวหน้าฝ่ายยานยนต์ KPMG (Klynveld Peat Marwick Goerdeler) ได้กล่าวสรุปจากการสำรวจใน 2 ประเด็นว่า 1) ความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับการลงทุนในสถานีชาร์จไฟฟ้า ซึ่งผู้บริหารร้อยละ 77 คาดการณ์ว่าผู้บริโภคจะต้องการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้เวลาน้อยกว่า 30 นาทีในการชาร์จไฟระหว่างการเดินทาง ซึ่งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่มีอยู่ในปัจจุบันส่วนใหญ่ใช้เวลามากกว่า 3 ชั่วโมง และ 2) ผู้บริหารเชื่อว่าบริษัทเทคโนโลยีจะเข้ามาเป็นผู้เล่นสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ ร้อยละ 78 ของผู้บริหารเห็นด้วยว่าในอีกไม่กี่ปีที่จะถึง วิธีการซื้อขายรถยนต์จะมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยเชื่อว่าภายในปี 2573 รถยนต์ส่วนใหญ่จะถูกซื้อขายผ่านระบบออนไลน์ และประมาณ 3 ใน 4 คาดการณ์ว่ารถยนต์มากกว่าร้อยละ 40 จะถูกซื้อขายโดยตรงจากผู้ผลิตไปยังผู้บริโภค โดยไม่ผ่านคนกลาง

            นอกจากนี้ ปัญหาที่อาจพบได้ หรือกล่าวง่าย ๆ คือความท้าทายสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคตนั้น คือการที่ชิป (Semiconductor) ขาดตลาด ส่งผลให้การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าออกมาได้ล่าช้ากว่ากำหนด เนื่องจากชิปถือเป็นส่วนสำคัญในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการที่แบตเตอรี่จะมีการเสื่อมสภาพตามการใช้งาน ซึ่งอาจกลายเป็นขยะที่ย่อยสลายยาก ก่อให้เกิดมลพิษภายหลังได้นั้น ก็ได้มีการพยายามคิดค้นทดสอบให้สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกครั้งเพื่อหมุนเวียนอยู่ และท้ายสุดคือ เป็นความท้าทายของการจัดตั้งสถานีชาร์จพลังงานไฟฟ้าที่จะต้องมีให้ทั่วถึงให้ได้ ซึ่งที่ผ่านมาเนื่องด้วยประสบกับปัญหาสถานการณ์โควิด-19 จึงทำให้แผนการล่าช้าออกไปกว่าที่ควรจะเป็น

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กฤตินี พงษ์ธนเลิศ. (ม.ป.ป.). เทรนด์รถไฟฟ้า EV Car: บทเรียนจากญี่ปุ่น. สืบค้นจาก https://www.krungsri.com/th/plearn-

            plearn/ev-car-trend-and-case-study-from-Japan

กองบรรณาธิการ AV Tech Guide. (2565). เปิด 5 เทรนด์เทคโนโลยีสำคัญในอุตสาหกรรมยานยนต์ของปี 2565. สืบค้นจาก 

            https://www.avtechguide.com/gartner-report-top-five-automotive-technology-trends-for-2022/

ฐานเศรษฐกิจดิจิทัล. (2565). เจาะเทรนด์อุตสาหกรรมยานยนต์โลก แนวโน้มเติบโต มีผลกำไร. สืบค้นจาก

            https://www.thansettakij.com/motor/512222

ธนาคารกรุงเทพ. (2565). จีนยืนหนึ่งตลาดรถยนต์ไฟฟ้าโลก 6 ปีซ้อน ศึกษาเพื่อสร้างโอกาส SME ไทย. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbanksme.com/en/china-no1-electric-vehicle-markets

ธนาคารกรุงเทพ. (2565). ‘ยานยนต์ไฟฟ้า’ น่าสนใจอย่างไร ทำไม? เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนโลก. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbanksme.com/en/how-interesting-ev-car

พิมใจ ฮุนตระกูล. (2565). เทรนด์สนับสนุนเป้าหมาย net zero ที่ต้องจับตามองในปี 2022. สืบค้นจาก

            https://www.scbeic.com/th/detail/product/8038

วิรัช บูรณกนกธนสาร. (2564). ปตท.เปิดตัว EV Charging Station ขานรับเทรนด์รถยนต์ไฟฟ้า. สืบค้นจาก

            https://thunhoon.com/article/247570

Marketing Oops!. (2564). ถอดรหัสรถยนต์ไฟฟ้า เมกะเทรนด์ที่จะพลิกโฉมประเทศไทย. สืบค้นจาก

            https://www.marketingoops.com/news/biz-news/xev-car-insight-via-gwm-and-nida/

MoneyBuffalo. (2564). ทำไม “รถยนต์ไฟฟ้า” (EV Car) ถึงเป็นอนาคตที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ?. สืบค้นจาก

            https://www.moneybuffalo.in.th/business/are-electric-cars-the-future

Natt W. (นามแฝง). (2565). Sony เตรียมโดดเข้าสู่วงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอีกราย. สืบค้นจาก   

            https://www.springnews.co.th/spring-life/820022

Pattarat (นามแฝง). (2021). “ไบเดน” ตั้งเป้าปี 2030 รถใหม่ในสหรัฐฯ 50% ต้องเป็น “รถยนต์ไฟฟ้า”. สืบค้นจาก

            https://positioningmag.com/1345513

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Babar, A. H. K., Ali, Y. & Khan, A. U. (2021). Moving toward green mobility: overview and analysis of electric

            vehicle selection, Pakistan a case in point. Environment, Development & Sustainability, 23(7):

            10994-11011. Retrieved from https://cutt.ly/VF6fneA

Hua, X. & Gandee, E. (2021). Vibration and dynamics analysis of electric vehicle drivetrains. Journal of Low

            Frequency Noise, Vibration & Active Control, 40(3): 1241-1251. Retrieved from https://cutt.ly/9F6gCsw

Jaiswal, D., Kant, R., Singh, P. K. & Yadav, R. (2022). Investigating the role of electric vehicle knowledge in

            consumer adoption: evidence from an emerging market. Benchmarking: An International Journal,

            29(3): 1027-1045. Retrieved from https://cutt.ly/oF6dIZi

Liu, C., Zhao, L. & Lu, C. (2022). Exploration of the characteristics and trends of electric vehicle crashes: a case

            study in Norway. EUROPEAN Transport Research Review. 14(1): 1-11. Retrieved from

            https://cutt.ly/aF6dAvN

Merrington, S., Khezri, R. & Mahmoudi, A. (2022). Optimal planning of solar photovoltaic and battery storage

            for electric vehicle owner households with time‐of‐use tariff. IET Generation, Transmission &

            Distribution (Wiley-Blackwell), 16(3): 535-547. Retrieved from https://cutt.ly/pF6g4lF

Paraskevas, A., Aletras, D., Chrysopoulos, A. Marinopoulos, A. & Doukas, D. I. (2022). Optimal Management for

            EV Charging Stations: A Win–Win Strategy for Different Stakeholders Using Constrained Deep

            Q-Learning. Energies (19961073), 15(7): 2323. Retrieved from https://cutt.ly/bF6f0Nz

Rauma, K., Simolin, T., Järventausta, P., Rautiainen, A. & Rehtanz, C. (2022). Network‐adaptive and capacity‐

            efficient electric vehicle charging site. IET Generation, Transmission & Distribution (Wiley-Blackwell),

            16(3): 548-560. Retrieved from https://cutt.ly/wF6fqWn


1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri