การแข่งขันทางอวกาศ (Space Race)

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

            ประเด็นเกี่ยวกับการแข่งขันทางอวกาศ (Space Race) ในปัจจุบันเริ่มกลับมามีบทบาทมากขึ้นอีกครั้ง แต่ในมุมมองที่เปลี่ยนไปจากเดิม เพื่อมุ่งเน้นทางด้านธุรกิจ เศรษฐกิจ จนหลาย ๆ บริการที่ได้เกิดขึ้นไปบ้างแล้วนั้น ก็ได้พัฒนาไปเป็นอุตสาหกรรมการบริการที่ขนาดใหญ่กันมากขึ้น ต่างจากเดิมที่มุ่งเน้นในเรื่องเกี่ยวกับดาวเทียม หรือการส่งจรวดออกไปนอกโลกเท่านั้น ซึ่งประเทศไทยก็ได้ตระหนักในส่วนนี้เช่นกัน ปัจจุบันจึงอยู่ระหว่างการยกร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศไทย มุ่งเน้นการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินกิจกรรมทางอวกาศของหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน อีกทั้งเพื่อสร้างมาตรฐานของกิจการอวกาศในประเทศไทย ตลอดจนเอื้อต่อการดูเเลการประสานงานกับหน่วยงานอวกาศของต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการลงทุน สร้างรายได้ และการจ้างงานเพิ่มขึ้นต่อไปด้วย (อาคม, 2565)

            หากกล่าวถึงอวกาศแล้วนั้น จะพบว่าเทรนด์ในช่วงนี้ที่กำลังจะมา มีดังต่อไปนี้ 1) จรวด Reuse เป็นการมุ่งพัฒนาให้นำจรวดที่ผ่านการใช้งานแล้วกลับมาใช้ซ้ำให้ได้ ตัวอย่างเช่น จรวด New Glenn ของบลูออริจิน ที่ได้ออกแบบและพัฒนาให้สามารถใช้งานได้ถึง 25 ครั้ง เพื่อบรรทุกคนและสินค้าซึ่งมีมากกว่าคู่แข่ง 2) การกลับไปเหยียบดวงจันทร์ กล่าวคือ ในหลาย ๆ ประเทศ เช่น รัสเซีย ญี่ปุ่น อินเดีย ต่างก็วางแผนว่าจะกลับไปเหยียบดวงจันทร์อีกครั้ง พร้อมทั้งมุ่งมั่นว่าจะไปปักธงแสดงอาณาเขตเพื่อรองรับการตั้งสถานีในการทดลองต่อ ๆ ไปด้วย อันจะเป็นประโยชน์ก่อนที่จะเดินทางไปยังพื้นผิวดวงจันทร์ในอนาคตข้างหน้า 3) ดาวเทียมขนาดเล็ก นอกจากการพัฒนาให้ดาวเทียมมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบาลง รวมถึงทำให้การยิงจรวด 1 ครั้ง สามารถปล่อยดาวเทียมได้ในจำนวนมากแล้วนั้น ก็ยังเห็นได้จากการที่ Fleet Space Technologies บริษัทสัญชาติออสเตรเลีย ได้มีการคิดค้นพัฒนาดาวเทียมจากแท่นพิมพ์ 3 มิติได้สำเร็จ 4) คลีนนิ่ง “อวกาศ” กล่าวคือ บริษัทของญี่ปุ่นได้มีการเปิดตัวเทคโนโลยีกำจัดซากขยะในอวกาศที่เป็นของเสียจากครั้งก่อน ๆ โดยดึงดูดให้มาเผาไหม้บริเวณพื้นผิวโลก และบริษัททางยุโรปก็เช่นกัน ได้จัดตั้งโครงการ “หุ่นยนต์กำจัดขยะ” เพื่อมาแก้ปัญหาตรงนี้ด้วย และเทรนด์สุดท้ายคือ 5) เทคโนโลยีอวกาศกับสิ่งแวดล้อม เป็นการคิดค้นเทคโนโลยี หรือเครื่องมือเพื่อจัดการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในชั้นอวกาศ ดังเช่น การดักจับก๊าซมีเทน เป็นต้น

            ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้นนั้น จะเห็นว่าปัจจุบันไม่เพียงแต่แข่งขันกันทางด้านวิทยาศาสตร์เท่านั้น แต่ในยุคนี้ ตั้งแต่ปี 2022 เป็นต้นไป จะเริ่มเห็นได้ชัดว่า มีการแข่งขันกันในรูปแบบอื่น ๆ อีก เช่น สื่อทางด้านอวกาศ โดยได้เริ่มเห็นกันมาในรูปแบบของภาพยนตร์ ซีรีส์ กิจกรรม โปสเตอร์ โฆษณา หรือสื่อต่าง ๆ ที่ต่างก็ให้ความสนใจและสื่อถึงด้านอวกาศเป็นส่วนมาก ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก โดยทางฝั่งตะวันออก ดังเช่น ประเทศเกาหลีใต้ ได้เห็นบทบาทจากภาพยนตร์เรื่องแรก คือ Space Sweeper - ชนชั้นขยะปฏิวัติจักรวาล ที่ได้มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาอธิบายมากขึ้น และภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของเกาหลีใต้ที่ต้องการจะแสดงศักยภาพในประเด็นทางด้านอวกาศที่ทั่วโลกกำลังให้ความสนใจ และทำให้เริ่มรับรู้ได้ว่ามีทิศทางใด หรือแม้แต่ซีรีส์เรื่องล่าสุด The Silent Sea ที่ผลตอบรับจากต่างชาติอาจจะไม่ดีเท่าใดนัก แต่อย่างน้อยก็ทำให้เห็นว่าเกาหลีใต้ยังคงให้ความสนใจในประเด็นของอวกาศถึงกับยังคงผลักดันผ่านสื่อออกมาอยู่อย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งจากแต่เดิมเรามักจะเห็นจากฝั่งตะวันตกเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้ ในความเป็นสื่อ ที่ต่อไปในอนาคตอาจจะพบเห็นกันได้มากขึ้นนั้น ก็คงจะไม่ใช่เพียงสื่อในรูปแบบเดิมที่กล่าวมาเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงสื่ออื่น ๆ อีกมากมายในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ไม่จำเพาะเจาะจง กล่าวคือ เป็นสื่อกลางอะไรก็ได้ที่สามารถสื่อถึงความเป็นอวกาศ จะเห็นว่าได้เริ่มมีเข้ามากันมากมายเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและจับตามอง

            อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากงานสัมมนาทางด้านอวกาศ ที่ชื่อว่า ‘Thailand SPACE Economic Forum 2021’ ที่จัดโดย Future STEAM Corporation ไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นั้น กล่าวโดยสรุปคือ มีการกล่าวให้เห็นภาพของการที่ประเทศไทยจะเร่งผลักดันตัวเอง หรือปรับเปลี่ยนแนวคิด หาลู่ทางในการพัฒนาเศรษฐกิจทางด้านอวกาศให้ได้ โดยละทิ้งการมองภาพอวกาศเป็นเรื่องยาก จับต้องไม่ได้เหมือนเดิมอีกต่อไป เพราะอวกาศยุคใหม่นี้ ไม่ใช่เพียงการแข่งขันปล่อยจรวดขึ้นไปสำรวจเหมือนแต่เดิม แต่คือสิ่งอื่นที่เกี่ยวข้องอันจะเกิดประโยชน์จากส่วนนี้มากมาย อาทิ ด้านการเกษตร ที่เราสามารถใช้ข้อมูลจากดาวเทียมไปคิดค้นพัฒนาต่อยอดสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้ ดังที่เกษตรกรส่วนใหญ่ทุกวันนี้ก็ได้นำข้อมูลเหล่านี้ไปพัฒนาต่อแล้วเช่นกัน หรือด้านสุขภาพ เป็นการที่เราสามารถผลิตอาหาร หรือคิดค้นหาวิธีการเกี่ยวกับการเตรียมความพร้อมทางด้านสุขภาพเพื่อนำไปใช้ในการเดินทางออกสู่อวกาศได้ หรือแม้กระทั่งผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องก็ยังสามารถหาช่องทางพัฒนาต่อไปได้อย่างไม่รู้จบ ตัวอย่างเช่น เนื้อวัว 3D Printing แมลงโปรตีนสูง อาหารอวกาศ การตรวจสอบสุขภาพนักบิน เทคโนโลยีศัลยกรรมโดยใช้หุ่นยนต์ แอปพลิเคชั่นเก็บข้อมูลรังสี UV เพื่อการอาบแดดที่ปลอดภัย หรือแม้กระทั่งสิ่งที่ดูไม่น่าจะเป็นไปได้ แต่ก็ได้เริ่มมีการวางแผนพัฒนาแล้ว เช่น โรงแรงอวกาศ เทคโนโลยีก่อสร้างนอกโลก เครื่องฟอกอากาศเพื่อไปใช้ในอวกาศ เป็นต้น

      นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายบริษัทที่ได้จับมือกันพัฒนาธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีอวกาศไปแล้วอีกมาก ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ การที่ SpaceChain (บริษัทที่มุ่งเน้นรวมเทคโนโลยีอวกาศเข้ากับบล็อคเชน) กับ Eurasian Space Ventures (ESV) (บริษัทในประเทศคาซัคสถานที่มุ่งเน้นรวมบริษัทต่าง ๆ มาลงทุน) ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมกัน เพื่อวางแผนจะรวมกันพัฒนาเกี่ยวกับธุรกิจหรือเทคโนโนโลยีทางอวกาศต่อไปอีก 2 ปี

           

            ในส่วนของประเทศไทยนั้น ผลแห่งความสำเร็จที่ผ่านมาก็เป็นการเริ่มแข่งขันนำเสนอแนวคิดในประเด็นทางอวกาศ โดยทีม EcoSpace จากประเทศไทย ได้ชนะการประกวด S-Booster 2021 ที่จัดขึ้นเพื่อนำเสนอแนวคิดการใช้เทคโนโลยีทางอวกาศ โดยประเทศไทยนำเสนอเกี่ยวข้องกับดาวเทียม ประกอบกับยังได้รับรางวัล Sponsor Award จาก Sony เนื่องจากนำเสนอในประเด็นที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งคือ การแก้ปัญหาไฟป่า ที่เกิดขึ้นได้ในทุกประเทศ ถือเป็น Global Issue ซึ่งจากกรณีนี้จะเห็นว่า เป็นมุมมองจากการแข่งขันที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีทางด้านอวกาศ ที่ต่อไปอาจจะเกิดขึ้นได้อีกมากในอนาคต

            ทั้งนี้ ในส่วนของการมุ่งแข่งขันกันทางด้านอวกาศอย่างมากมายนั้น มีประเด็นหนึ่งที่ เวิลด์ อีคอโนมิก ฟอรัม ได้เปิดเผยในรายงานความเสี่ยงโลก (Global Risks Report) ก่อนจะมีการประชุมว่า สิ่งที่เป็นกังวลคือ เกรงว่าจะมีปัญหาขยะล้นในอวกาศ ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจากการสำรวจมองว่าหลายประเทศยังขาดความร่วมมือกันในประเด็นนี้พอสมควร แต่ไปมุ่งเน้นการเตรียมสร้างหรือพัฒนาเพื่อการแข่งขันกัน จึงเห็นว่าเป็นประเด็นหนึ่งที่ควรตระหนัก

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2565). “ไทย” แชมป์ S-Booster 2021 ต่อยอดธุรกิจใช้เทคโนฯอวกาศ. สืบค้นจาก   

            https://www.bangkokbiznews.com/world/982416

กรุงเทพธุรกิจ. (2565). WEF เตือนโลกรับมือปัจจัยลบโควิด-ภัยไซเบอร์-แข่งขันอวกาศกระทบศก.ปีนี้. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbiznews.com/world/982087

ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน. (2565). 2022 ปีแห่งการแข่งขันทำสื่ออวกาศ. สืบค้นจาก

            https://spaceth.co/2022-space-media/

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์. (2565). 5 เทรนด์อวกาศ ปี 2022 มนุษย์กลับเหยียบดวงจันทร์. สืบค้นจาก

            https://www.prachachat.net/world-news/news-833164

พีอาร์นิวส์ไวร์. (2564). SpaceChain จับมือ Eurasian Space Ventures ลงนาม MOU ร่วมพัฒนาโครงการอวกาศ. สืบค้นจาก

            https://www.ryt9.com/s/anpi/3226533

มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล. (2564). Unlocking the Universe การคว้าโอกาสจาก ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เทคโนโลยีใหม่ที่ใกล้ตัว

            และจะสร้างจุดเปลี่ยนให้ประเทศ. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/thailand-space-economic-forum-2021/

อาคม. (2565). การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในศตวรรษที่21. สืบค้นจาก

            http://oknation.nationtv.tv/blog/akom/2022/02/26/entry-1

เอพี (นามแฝง). (2565). เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ส่องปัจจัยเสี่ยงโลกในปี 2022. สืบค้นจาก

            https://www.voathai.com/a/world-economic-forum-warns-cyber-risks-add-to-climate-threat-

            01112022/6392650.html

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Barry, W. P., Friedman, L., Oberg, J. E. & McCurdy, H. E. (2011). Helpful lessons from the space race. In: Issues

            in Science and Technology. 27(4) :19-22. Retrieved from https://cutt.ly/eGtzRwY

Brainard, Jeffrey. (2019). Chinese firm joins space race SPACE. Science, 365(6452): 412 Retrieved from   

            https://cutt.ly/SGtz0hQ

Bubar, J. (2019). A Space Race Reborn?. New York Times Upfront, 151(13): 18-21. Retrieved from

            https://cutt.ly/QGtlWxp

Copfer, D. (2016). The UK should lead—not follow—in developing contextual Regulations of Maximize their

            benefit in the new space race. Cleveland State Law Review, 64(2): 351-372. Retrieved from

            https://cutt.ly/OGtkIWw

De Zwart, M. & Stephens, D. (2019). The space (innovation) race: The inevitable relationship between military

            technology and innovation. Melbourne Journal of International Law, 20(1): 1-28. Retrieved from

            https://cutt.ly/aGtk9cC

Ellis, T. (2020). Curating the space race, celebrating cooperation: Exhibiting space technology during 1970s

            détente. European Journal of American Culture. 39(3): 275-295. Retrieved from

            https://cutt.ly/lGtkySc


1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri