เนื้อเพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ

(Cultivated meat หรือ Lab-grown meat หรือ Cultured Protein)

 

ผู้เรียบเรียง

ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์

นักเอกสารสนเทศปฏิบัติการ ฝ่ายบริการ

สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

             การผลิตและบริโภคอาหารในยุคปัจจุบันเริ่มมีแนวโน้มเปลี่ยนไป ทั้งจากกระแสเชิงอนุรักษ์ของกลุ่มผู้บริโภคแบบรักษ์โลก หรือกลุ่มคนที่หันมาดูแลสุขภาพของตัวเองกันมากขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งในอนาคตคาดว่าคนทั้งสองกลุ่มนี้น่าจะเพิ่มมากขึ้น โดยจะเห็นได้จากการที่เริ่มมีนักวิจัยหรือผู้ผลิตในหลาย ๆ ประเทศต่างให้ความสนใจกับทางเลือกการผลิตวัตถุดิบหรืออาหารแบบใหม่ ๆ ให้ตรงใจผู้บริโภค อีกทั้งยังให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย ดังจะเห็นได้จาก เนื้อเทียมจากพืช (Plant-based Meat หรือ Meat Zero) ที่ได้มีการคิดค้นและเริ่มมีแนวทางผลิตออกมาจำหน่ายให้ผู้บริโภคได้เห็นและลิ้มลองกันไปบ้างแล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งตอนนี้สิ่งที่น่าสนใจตามมาคือ เนื้อที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ (Cultivated meat หรือ Lab-grown meat หรือ Cultured Protein) ที่มีวัตถุประสงค์เดียวกันคือ ต้องการลดของเสียต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากกระบวนการปศุสัตว์ทั่วไป เพียงแต่กระบวนการเพาะเลี้ยงจากห้องแล็บจะเป็นการเพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อของสัตว์จริง ๆ เท่านั้น ซึ่งหากเป็นเนื้อเทียมจากพืช จะเป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่เป็นการแปรรูปพืชให้มีความคล้ายคลึงกับเนื้อสัตว์มากที่สุด เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง

 

จุดเริ่มต้นตั้งแต่ความต้องการผลิตเนื้อเทียมจากพืชนั้น สืบเนื่องจากการที่พบว่าต้องสูญเสียทรัพยากรไป สิ่งที่ได้มานั้นไม่คุ้มทุน เป็นต้นว่า การที่ต้องให้อาหารแก่สัตว์กว่า 100 กรัม จึงจะสามารถผลิตเนื้อสัตว์เพื่อทำอาหาร แต่ได้เพียง 4 กรัมเท่านั้น จึงมองว่า การปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นเพาะปลูกพืชไปเลย น่าจะมีความคุ้มค่ากว่าหรือไม่ แล้วจึงนำพืชที่ได้ไปแปรเปลี่ยนให้คล้ายเนื้อสัตว์มากที่สุด เพื่อตอบสนองความต้องการให้ได้อย่างเพียงพอ อีกทั้งเกิดความคุ้มทุนควบคู่กันไป ซึ่งได้พบว่า มีหลายแบรนด์ทำไปบ้างแล้ว เช่น ‘McPlant’ ของแมคโดนัลด์ ที่เป็นเบอร์เกอร์ไส้เนื้อทำจากพืช และ ‘Impossible Whopper’ ของเบอร์เกอร์คิง  ‘Beyond Fried Chicken’ ของเคเอฟซี ที่เป็นนักเก็ตไก่ทอดจากพืช  ‘เนื้อปลาแซลมอนจากบุก’ ของบริษัท โกรทเวลล์ ฟู้ดส์ (Start-up ของสิงคโปร์) และอีกหลาย ๆ แห่ง ที่เริ่มทำกันไปพอสมควรแล้ว

            ในส่วนของเนื้อที่เพาะเลี้ยงจากห้องแล็บนั้น ต่างจากเนื้อเทียมจากพืช เนื่องจากเป็นการพัฒนามาจากเซลล์ของสัตว์จริง ๆ ไม่ใช่จากพืช เพียงแต่เป็นการเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ ด้วยสารอาหารต่าง ๆ อาทิ วิตามิน น้ำตาล โปรตีน เป็นต้น ระยะเวลาประมาณ 9 สัปดาห์ ก็จะได้ชิ้นเนื้อที่นำไปประกอบอาหารเพื่อการบริโภคต่อได้ ซึ่งจะต่างจากเนื้อสัตว์เทียมในอีกรูปแบบหนึ่งที่กล่าวมาตอนต้นว่าทำจากพืช ซึ่งการเพาะเลี้ยงแบบนี้ ทำให้ได้รสชาติและรสสัมผัสที่ไม่ต่างจากเนื้อที่เลี้ยงด้วยวิธีจากฟาร์มปศุสัตว์เลย เพียงแต่วิธีการนี้ช่วยลดการเกิดสภาวะเรือนกระจกได้มาก โดยลดการเกิดก๊าซมีเทน ซึ่งได้จากการผลิตของเสียต่าง ๆ มากมาย ในต่างประเทศนั้นมีหลายประเทศพยายามที่จะคิดค้นและทดลองผลิตให้ได้ออกมาเป็นประเทศแรก ๆ อยู่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ ฝรั่งเศส สิงคโปร์ ฮ่องกง สเปน อิสราเอล และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งในอนาคตอาจจะพัฒนาไปให้สามารถจับต้องได้ง่ายขึ้น ในราคาที่เอื้อมถึงได้ทุกกลุ่ม โดยพบว่า ประเทศสิงคโปร์ เป็นประเทศแรกที่มีการอนุมัติให้วางจำหน่ายเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงออกสู่ตลาดครั้งแรก ส่วนประเทศจีนนั้น อยู่ระหว่างการพัฒนาเนื้อเพาะเลี้ยง และวางแผนเตรียมตัวเป็นผู้นำด้านนี้

            ในอนาคตคาดการณ์กันไว้ว่า ประมาณปี 2040 เนื้อสัตว์ที่วางจำหน่ายในท้องตลาดประมาณ 60% นั้น จะไม่ได้มาจากปศุสัตว์อีกต่อไป แต่จะเป็นเนื้อเทียมเพาะเลี้ยง ประมาณ 35% และเป็นเนื้อเทียมจากพืชอีกประมาณ 25% ซึ่งในกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเทียมนั้น นอกจากทำให้ปราศจากโรคที่ติดต่อกันมาแบบทางธรรมชาติแล้ว ก็ยังสามารถเติมกลิ่น สารอาหารที่เป็นประโยชน์ หรือกระทั่งยารักษาโรคได้ ซึ่งน่าจะทำให้เนื้อเทียมจากการเพาะเลี้ยงในอนาคตนั้น มีมูลค่าเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรักษ์โลกและรักสุขภาพ ดังที่ได้กล่าวไปบ้างในตอนต้น แต่ก็ยังพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยเชื่อมั่นในความปลอดภัย และเข้าใจว่าเป็นอาหารมังสวิรัติ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการเพาะเลี้ยงจากเนื้อเยื่อสัตว์แท้ ๆ ให้มีขนาดชิ้นใหญ่ขึ้น จึงไม่ใช่มังสวิรัติ และเนื่องจากเป็นการเพาะเลี้ยงในห้องแล็บ จึงมั่นใจในความปลอดภัยได้ เหตุเพราะมีการควบคุมในพื้นที่ปิดเป็นอย่างดี จึงปลอดโรคที่อาจจะมาจากสัตว์ตามธรรมชาติของการเป็นฟาร์มปศุสัตว์ปกติได้

            ประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือ เนื้อเทียมเพาะเลี้ยงแบบนี้ ตามหลักของศาสนาอิสลาม ถือว่าไม่ได้ผ่านกระบวนการเชือดที่ถูกต้องตามหลักฮาลาล จึงทำให้เกิดความไม่มั่นใจว่า กระบวนการต่าง ๆ ที่ผ่านเตาปฏิกรณ์นั้น จะสะอาดถูกหลักหรือไม่ รวมถึงไม่ถูกหลักโคเชอร์ (อาหารที่ได้มาตรฐานตามกฎของยิว) เช่นกัน ซึ่งยังคงเป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาและติดตามกันต่อไป แต่มีการคาดการณ์ว่าในปี 2023 น่าจะคลี่คลายแล้ว

            นอกจากนี้ ในอนาคต ประเทศอังกฤษกำลังเตรียมวางแผนผลิตเนื้อสิงโตในห้องแล็บ และจะวางจำหน่ายในลอนดอนครั้งแรก โดยเน้นตามร้านที่ได้รับรางวัลมิชลินก่อน ซึ่งผู้คนที่นิยมบริโภคเนื้อที่ผลิตในห้องแล็บ เริ่มที่จะมองว่า การผลิตเนื้อเทียมเพาะเลี้ยงแบบนี้เป็นการช่วยลดก๊าซของเสียได้ค่อนข้างมากกว่ารูปแบบฟาร์มปศุสัตว์เดิม โดยเฉพาะก๊าซเรือนกระจก และยังเป็นการใช้พลังงานน้อยกว่า ลดการใช้ที่ดินและน้ำด้วย

            สำหรับในประเทศไทยนั้น ได้มีการวิจัยเกิดขึ้น โดย รองศาสตราจารย์เทวัญ จันทร์วิไลศรี อาจารย์จากภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะ ได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เป็นผู้นำร่อง โดยกล่าวถึงประเด็นของกระบวนการผลิตเนื้อในห้องแล็บเช่นนี้ว่า สามารถใส่สารปรุงแต่งตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเป็นการปรับแต่งรูป รส กลิ่น สี หรือใส่สารใดที่อาจเป็นประโยชน์มากกว่าการผลิตเนื้อจากรูปแบบฟาร์มปศุสัตว์เดิม ซึ่งแผนการวิจัยในการเพาะเลี้ยงเนื้อสุกรจากแล็บคาดว่าน่าจะแล้วเสร็จภายในอีก 2 ปีข้างหน้า ซึ่งในส่วนนี้มีภาคเอกชนสนใจผลการวิจัยจากงานวิจัยนี้มาก เป็นความหวังว่าจะเป็นประโยชน์ในการนำไปต่อยอด หรือพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่อไปในอนาคต

meat

 

 

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กรุงเทพธุรกิจ. (2565). รัฐ-เอกชนร่วมขับเคลื่อน Plant-based Food ขานรับเมกะเทรนด์ “อาหารอนาคต”. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/tech/tech_innovation/1024775   

กองบรรณาธิการ Urban Creature. (2565). มุสลิมกินได้ไหม ถูกหลักฮาลาลหรือเปล่า เนื้อสัตว์จากแล็บไร้ความชัดเจนทางศาสนาจนอาจชะงักทั้งอุตสาหกรรม. สืบค้นจาก https://urbancreature.co/cultured-meat-halal/

ชลาทิพย์ ถิรสุนทรากุล. (2565). อาหารแห่งอนาคต มนุษย์อาจต้องกิน Lab-grown meat เนื้อเพาะเลี้ยงจากห้องแล็บ. สืบค้นจาก https://workpointtoday.com/future-of-food-lab-grown-meat/

ธัญศา สิงหปรีชา. (2564). เขา ‘ปลูกเนื้อสัตว์’ กันไปถึงไหน? : Lab-Grown Meat เนื้อเทียมเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น. สืบค้นจาก https://plus.thairath.co.th/topic/futurism/100565 

The Matter. (2565). เนื้อสิงโตที่เพาะเลี้ยงในแล็บ เตรียมวางจำหน่ายในอังกฤษเป็นครั้งแรกของโลก. สืบค้นจาก https://thematter.co/brief/171502/171502

TNN Online. (2565). เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง เทรนด์อาหารที่ดีต่อสุขภาพ. สืบค้นจาก https://www.tnnthailand.com/news/health/119626/

 

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Choudhury, D., Tseng, T. W. & Swartz, E. (2020). The Business of Cultured Meat. In Trends in Biotechnology, 38(6): 573-577. Retrieved from https://cutt.ly/XBxNjr5

Garcez de Oliveira Padilha, L., Malek, L. & Umberger, W. J. (2021). Food choice drivers of potential lab-grown meat consumers in Australia. British Food Journal, 123(9): 3014-3031. Retrieved from https://cutt.ly/7BxV6Cu

Pilařová, L., Kvasničková Stanislavská, L., Pilař, L., Balcarová, T. & Pitrová, J. (2022). Cultured Meat on the Social Network Twitter: Clean, Future and Sustainable Meats. , 11(17): 2695. Retrieved from https://cutt.ly/LBxB0dn

Siddiqui, S. A., Khan, S., Murid, M., Asif, Z., Oboturova, N. P., Nagdalian, A. A., Blinov, A. V., Ibrahim, S. A. & Jafari, S. M. (2022). Marketing Strategies for Cultured Meat: A Review. (2076-3417)12(17): 8795. Retrieved from https://cutt.ly/4BxNIdP

Silva, C. P. D. & Semprebon, E. (2021). How about Cultivated Meat? the Effect of Sustainability Appeal, Environmental Awareness and Consumption Context on Consumers' Intention to Purchase. , 27(3): 142-156. Retrieved from https://cutt.ly/mBxN0au

Tomiyama, A. J., Kawecki, N. S., Rosenfeld, D. L., Jay, J. A., Rajagopal, D. & Rowat, A. C. (2020). Bridging the gap between the science of cultured meat and public perceptions. , 104: 144-152. Retrieved from https://cutt.ly/dBxBRzm

 

 


1xbet casino siteleri bedava bahis kaçak bahis superbetin yeni giriş casino siteleri