แนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารสุขภาพ และบริการทางการแพทย์ ปี 2024
ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
อาหารถือเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยมีผลต่อการดำรงชีวิต และจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมารูปแบบของอาหารและการบริโภคมีการเปลี่ยนไปทุกปี เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการควรให้ความสนใจว่าเทรนด์เป็นไปในทิศทางใดแล้วบ้าง เพื่อให้สามารถทราบแนวทางปรับตัว พัฒนาธุรกิจให้เติบโตและประสบความสำเร็จต่อไปได้ ในมุมของผู้บริโภคก็เช่นกัน หากได้ทราบว่าเทรนด์อาหารในปีนี้หรือในอนาคตที่กำลังเผชิญอยู่จะเป็นเช่นไร ก็จะช่วยให้เข้าใจ เตรียมพร้อมรับสถานการณ์และปรับตัวในการใช้ชีวิตได้ดีขึ้น ซึ่งมีแนวคิดเกี่ยวกับเทรนด์อาหารในมุมมองต่างๆ อันทำให้เห็นภาพรวมแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารในปี 2024 นี้ รวมไปถึงสุขภาพอันเป็นผลจากการบริโภคอาหาร การออกกำลัง และการแพทย์ที่เกี่ยวข้องด้วย

ผู้ให้บริการจัดส่งอาหารในประเทศเนเธอร์แลนด์ ชื่อว่า Thuisbezorgd.nl ถือเป็นผู้ที่ใกล้ชิดอาหารมากที่สุด จึงมองเห็นภาพรวมแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหาร ซึ่งได้สรุปออกมาให้เห็นจำนวน 5 เทรนด์ ว่าเป็นไปในทิศทางใด ดังนี้ 1. Mood Food กล่าวคือ เป็นการเลือกรับประทานอาหารตามอารมณ์ เพื่อทำให้สุขภาพจิตดีขึ้นควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพร่างกาย เช่น การรับประทานกาแฟคู่กับขนมหวานเพียงเล็กน้อยเพื่อให้รู้สึกมีความสุขขึ้น เป็นต้น 2. Zero Heroes กล่าวคือ เป็นการที่ผู้บริโภคตระหนักถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน ทำให้ต้องการเห็นผู้ผลิตหรือร้านอาหารเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ที่ยั่งยืน หรือลดขยะจากการใช้บรรจุภัณฑ์ชนิดครั้งเดียวทิ้งเช่นกัน 3. Melting Pot of Cultures กล่าวคือ เป็นการที่ผู้บริโภครู้สึกผูกพันกับอาหารในรูปแบบดั้งเดิม แต่ก็ได้รับแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมใหม่ ๆ จึงมีความต้องการอาหารในรูปแบบผสมผสานมากขึ้น 4. Directly Delivered to Your Home กล่าวคือ เนื่องด้วยความกดดันเรื่องของเวลาในปัจจุบัน ทำให้ผู้บริโภคต้องการอาหารหรือวัตถุดิบหรือเครื่องอุปโภคต่างๆในรูปแบบเร่งด่วนที่มีบริการส่งถึงที่พักมากขึ้น และ 5. Seasonings กล่าวคือ ผู้บริโภคนิยมเสพอาหารผ่านสื่อต่างๆ และประเมินคุณค่าของอาหารด้วยตัวเอง โดยที่ผู้ผลิตเป็นผู้นำเสนอ เช่น Tiktok, Instagram คล้ายกับแฟชั่นหรือดนตรี ซึ่งไม่จำเป็นต้องอาศัยนักวิจารณ์อาหารอีกต่อไป
จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นที่ทำให้เห็นภาพกว้างๆ ของแนวโน้มความต้องการบริโภคอาหารหรือเทรนด์ที่ได้รับความนิยมแล้วนั้น ‘Whole Foods’ บริษัทในเครือ Amazon ซูเปอร์มาร์เก็ตสัญชาติอเมริกัน ก็ยังได้วิเคราะห์แนวโน้มเทรนด์อาหารไว้อีก 10 ประเภท ที่ทำให้เห็นภาพเฉพาะเจาะจงลงไปได้อีก ดังนี้
1) อาหารจากพืชที่มีส่วนผสมเรียบง่าย
เนื่องด้วยผลิตภัณฑ์จากพืชราคาค่อนข้างสูง จึงเริ่มหันไปใช้เป็นส่วนผสมจากพืชที่เน้นความเรียบง่ายแทน อาจเป็นการผสมสัก 2-3 อย่าง
2) โกโก้
เริ่มมีการหันมาใช้โกโก้ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จากแต่เดิมที่นำไปใช้เป็นเพียงช็อกโกแลตเท่านั้น
3) บัควีท (Buckwheat)
คือธัญพืชชนิดหนึ่งที่อุดมไปด้วยโปรตีนและคาร์โบไฮเดรต อีกทั้งไม่มีกลูเตนตามธรรมชาติ เหมาะสำหรับผู้บริโภคที่แพ้กลูเตน ทำให้ธัญพืชชนิดนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น
4) ปลาจากพืช
เป็นการนำพืชมาเป็นวัตถุดิบแทนปลา ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาและทดลองหาพืชมาทดแทนปลาที่ให้ได้เนื้อสัมผัสและรสชาติใกล้เคียงที่สุด โดยแบรนด์อาหารทะเลที่ทำจากพืชหลายแบรนด์ต่างก็ให้ความสนใจ
5) ผลิตภัณฑ์ที่ดูแลรักษาน้ำ (หนึ่งในทรัพยากรสำคัญของโลก)
หลายแบรนด์ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์น้ำ หรือการใช้น้ำเป็นวัตถุดิบค่อนข้างมาก เพื่อลดการสิ้นเปลือง และให้น้ำคงอยู่ไว้ได้มากที่สุด
6) อาหารรสชาติเผ็ดร้อนกำลังมาแรง
ผู้บริโภคนิยมรับประทานอาหารรสชาติเผ็ดร้อนมากขึ้น เช่น หมาล่า ที่เป็นกระแสในช่วงปีที่ผ่านมา และยังคงต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ซึ่งอาจมีอีกรสชาติหนึ่งที่เรียกว่า ‘Swicy’ คือหวานและเผ็ด กำลังจะเป็นที่นิยมต่อไป
7) บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีหลายรูปแบบมากยิ่งขึ้น
เนื่องด้วยผู้บริโภคมีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้ชีวิตด้วยความรีบเร่ง ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปจึงถือเป็นวัตถุดิบหนึ่งที่ตอบโจทย์เรื่องความรวดเร็ว และเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งรูปแบบในการนำไปประกอบอาหาร และรสชาติในการปรุงอาหาร ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ชื่นชอบ
8) ขนมหวาน เน้นความเรียบง่ายแต่หรูหรา
เทรนด์ขนมหวาน ใน Tiktok ที่เรียกว่า “Little Treat Culture” จะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น กล่าวคือ เป็นการเน้นให้เห็นการประกอบอาหารที่เรียบง่าย แต่อาจมีวัตถุดิบหรือวิธีการบางอย่างที่แฝงไปด้วยความหรูหรา ทำให้ทานง่ายและมีความน่าทานมากยิ่งขึ้น เช่น อินทผลัมเคลือบช็อกโกแลต เลมอนพาย เป็นต้น
9) อาหารเพื่อสุขภาพของผู้หญิง
ช่วงหลังจะเห็นได้ว่ามีหลายแบรนด์ที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพของผู้หญิงมากยิ่งขึ้น รองรับสภาวะต่าง ๆ เช่น ช่วงมีประจำเดือน ตั้งครรภ์ หลังคลอด หรือแม้แต่พวกวิตามินเสริมบำรุงแต่ละช่วงวัย
10) เทรนด์เครื่องดื่มยามเช้ารูปแบบใหม่
ในอนาคตอาจมีการพัฒนารูปแบบเครื่องดื่มยามเช้าที่นอกเหนือไปจากกาแฟ เนื่องด้วยผู้บริโภคไม่ได้ต้องการเพียงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนกระตุ้นให้ตื่นตัวเท่านั้น แต่ยังคงต้องการผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์การรักสุขภาพและต้องมาจากวัตถุดิบทางธรรมชาติเท่านั้นอีกด้วย ทั้งนี้หากเราได้ทราบถึงความต้องการบริโภคอาหารในรูปแบบเทรนด์ต่างๆ พร้อมกับประเภทอาหารที่เฉพาะเจาะจง ก็ทำให้ผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตเลือกที่จะปรับปรุง พัฒนา และนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคได้มากยิ่งขึ้น เป็นต้นว่า อาจทำเป็นขนมหวานที่มีส่วนผสมของโกโก้เป็นหลักในรูปแบบฟิวชั่น มีกลิ่นไอของวัฒนธรรมดั้งเดิมอยู่แต่ประยุกต์ให้มีความทันสมัย และยังคงดูดีแบบเรียบง่ายแต่หรูหรา พร้อมบรรจุในบรรจุภัณฑ์แบบรักษ์โลก เน้นความยั่งยืน โดยประชาสัมพันธ์ผ่านช่องทาง Social Media ต่าง ๆ เช่น Tiktok, Instagram และมีการจัดส่งรูปแบบ Delivery โดยผู้บริโภคสามารถสั่งผ่านออนไลน์ได้อย่างสะดวก ซึ่งเมื่อผู้บริโภคมีความต้องการบริโภค เนื่องด้วยสัมผัสได้ถึงความสวยงาม น่ารัก จนเกิดเป็นความประทับใจ มีการโพสต์บอกต่อในสื่อต่าง ๆ รวมถึงรีวิวความอร่อย ก็ย่อมหมายถึงการที่ผู้บริโภคได้เลือกรับประทานอาหารตามอารมณ์ ที่ช่วยให้สุขภาพจิตดีขึ้นแล้วเช่นกัน
สิ่งต่อมาในยุคนี้ที่เห็นได้ชัดเจนเลยคือ ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจกับสุขภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีเทรนด์การรับประทานอาหารเพื่อสุขภาพ สรุปเป็น 7 เทรนด์ที่น่าสนใจ ดังนี้
1) กินดี อร่อย เน้นคุณภาพ
ผู้บริโภคยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบในการปรุงอาหาร หรือเลือกบริโภคอาหารจากแบรนด์ที่น่าเชื่อถือ และมีคุณภาพต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
2) ใส่ใจฉลากโภชนาการ
มีการอ่านฉลากเพื่อดูส่วนผสม และพิจารณาเกณฑ์ตามหลักโภชนาการมากขึ้น
3) ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
สังคมไทยเป็นสังคมแห่งผู้สูงวัย จึงมีความต้องการบริโภควิตามินหรืออาหารเสริมกัน
4) ทำอาหาร เครื่องดื่มกินเอง
หลายคนคุ้นชินกับวิถีชีวิตในช่วงโควิด-19 ที่ได้ทำอาหารอยู่ที่พักอาศัย โดยสามารถออกแบบวิธีการปรุงอาหารในแบบฉบับของตัวเองได้ รวมไปถึงเครื่องดื่มแบบต่าง ๆ จึงเกิดความชื่นชอบแบบนี้มาอย่างต่อเนื่อง
5) อาหารสายกรีน ใส่ใจสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคหันมาใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเลือกวัตถุดิบหรืออาหารที่มีกระบวนการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
6) ใช้เทคโนโลยีเพื่อสุขภาพกายใจ
มีการใช้อุปกรณ์ แอปพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สนับสนุนสุขภาพมากขึ้น เช่น Smart Watch, AI, การปรึกษาสุขภาพออนไลน์ เป็นต้น
7) มีสุข แข็งแรงทั้งกายและใจ
คนหันมาสนใจสุขภาพกันมากขึ้น ในแง่ของการออกกำลังกาย หรือการบำบัดด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น การทำสปา การนวด หรือเข้ารับการปรึกษาทางสุขภาพจิต เป็นต้น
นอกจากนี้ เทรนด์ในปี 2024 ที่คาดว่าจะมาแรง ต่อเนื่องจากกระแสในปี 2023 เน้นใน 2 ด้าน คือ อาหาร และออกกำลังกาย โดยในส่วนของอาหารนั้น ผู้คนให้ความสำคัญและนิยมรับประทานจำพวก Plant-Based คือที่ใช้วัตถุดิบจากพืชมาทดแทน รวมถึงการหันมารับประทานโปรตีนจากพืชจำพวกถั่ว เมล็ดพืช พืชตระกูลถั่วเช่นกัน นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวิธีการทานอาหารให้มีลักษณะที่สมดุล (Balanced Diet) และมุ่งเน้นความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น กล่าวคือ พยายามเลือกรับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ในปริมาณที่พอเหมาะและสนใจผลิตภัณฑ์หรือบรรจุภัณฑ์ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นไปด้วย เมื่อส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบจากธรรมชาติก็จะเป็นการช่วยย่อยสลายหรือลดปริมาณขยะเหลือทิ้งให้น้อยลงได้ ในส่วนของการออกกำลังกายก็จะเน้นไปทางการออกกำลังกายเป็นกลุ่ม ดังเช่น กีฬา Pickleball (กีฬาแร็กเก็ตลูกผสมระหว่างเทนนิส แบดมินตัน และปิงปอง โดยมีลักษณะเป็นการตีเทนนิสในสนามแบดมินตัน แต่ใช้ลูกแบบพลาสติก แร็กเก็ตและกติกานับแต้มคล้ายปิงปอง) ในสหรัฐอเมริกาการออกกำลังกายที่เรียกว่า PHA Training (Peripheral Heart Action Training) กล่าวคือเป็นลักษณะของการออกกำลังกายแบบผสมผสาน เน้นความไวแต่ก็ให้มีการพักออกกำลังแบบช้า ๆ แต่ในระยะเวลาอันสั้น ไม่เน้นพักยาว รวมถึงการออกกำลังแบบ Pilates ที่พบในกลุ่มผู้ชายเพิ่มขึ้น ไม่เพียงแต่ผู้หญิงแล้วเท่านั้น อีกทั้งการออกกำลังกายผ่านแอปพลิเคชั่น โดยใช้ Fitness App ซึ่งถือเป็นเครื่องมือช่วยการประเมินผลได้อย่างแม่นยำมากขึ้น ทำให้สามารถหาจุดบกพร่องเพื่อไปพัฒนาได้อย่างตรงจุด นอกจากนี้ เป็นผลให้ผู้คนหันมาใส่ใจสุขภาพซึ่งไม่เพียงแต่ร่างกาย แต่เป็นด้านจิตใจควบคู่กันไปด้วยโดยเน้นการฟื้นฟูมากยิ่งขึ้น
จากข้อมูลสถิติเกี่ยวกับสุขภาพกายและใจเชื่อมโยงกับรายจ่ายในด้านนี้ พบว่า มีคนไทยเพียง 48% เท่านั้นที่ใส่ใจสุขภาพกาย ซึ่งถือเป็นประเทศที่มีเปอร์เซนต์น้อยที่สุดในอาเซียนก็ว่าได้ และสนใจสุขภาพจิตคิดเป็น 53% ทั้งนี้ จากผลการสำรวจที่ว่า มีคนไทย 61% ที่มีความกังวลในเรื่องของสุขภาพกายและใจ แต่มีเพียง 50% เท่านั้นที่มีรายได้เพียงพอ ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อป้องกันหรือรักษา ซึ่งแสดงให้เห็นว่าไม่ใช่ทั้งหมดที่จะมีรายได้เพียงพอต่อความกังวลนั้น ๆ ทั้งนี้ มีข้อแนะนำช่วยลดภาระเพื่อตอบสนองต่อการดูแลสุขภาพ ดังนี้
1) การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการพบแพทย์ ที่เรียกว่า TeleMed
โดยปกติการไปพบแพทย์เพื่อขอคำปรึกษาหรือช่วยตรวจรักษานั้น ย่อมต้องเดินทางไปถึงที่และใช้เวลาในการรอคิว หรือเข้ารับการตรวจรักษาพอสมควร ซึ่งหากเป็นคนยุคใหม่ยุคนี้ยินดีจะเชื่อคำแนะนำจากแพทย์ ผ่านรูปแบบ TeleMed โดยไม่ต้องเสียเวลาเดินทางหรือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นเหมือนกับคนยุคก่อนที่มองว่าการเดินทางไปพบแพทย์ด้วยตัวเองมีความน่าเชื่อถือมากกว่า
2) Bundle Pack จัดแพคใหญ่เพื่อลดราคา
เนื่องจากการจัดแพคใหญ่ ย่อมมีราคาถูกกว่าการจำหน่ายปลีก หรือในอีกรูปแบบหนึ่งอาจเป็นการนำสินค้าที่เกี่ยวข้องมาจัดรวมไว้ด้วยกัน เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภคเห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าต้องการอะไร ไม่ต้องเสียเวลาไปหาเอง ซึ่งรวมมาไว้ให้แล้วในราคาที่ถูกกว่า
3) ให้คำปรึกษาสุขภาพทางออนไลน์
เป็นการใช้ AI เพื่อช่วยตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับสุขภาพและวิเคราะห์ให้แม่นยำมากขึ้นก่อนไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยจริง อาจเป็นการประเมินภาพรวมและรับคำปรึกษาทางออนไลน์ได้ก่อน
4) ซื้อและส่งยาทางออนไลน์
ในประเทศไทย กฎหมายยังไม่ได้อนุญาตเท่าในต่างประเทศ ซึ่งหากในอนาคตเปิดโอกาสให้แพทย์ผู้วินิจฉัยสามารถกำหนดได้ว่าผู้ใดซื้อยาทางออนไลน์ก่อนได้บ้าง จะช่วยผู้บริโภคได้มาก เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นยาประจำตัว ย่อมช่วยลดความสิ้นเปลืองด้านต่างๆ ไปได้มาก ก่อนจะเดินทางไปติดต่อขอซื้อจากเภสัชกรในร้านขายยา
แหล่งข้อมูลอ้างอิง
ณัฐพล ม่วงทำ. (2566). Wellness Trends & Insights 2024 เมื่อผู้บริโภครู้ว่าสุขภาพสำคัญแต่เงินไม่พอ. สืบค้นจาก
https://www.everydaymarketing.co/trend-insight/health-and-wellness-trends-and-insights-2024
-more-concern-less-budget/
ไทยรัฐออนไลน์. (2567). เทรนด์ 2024 กินเพื่อสุขภาพยังมาแรง เพิ่มเติมคือใส่ใจชีวิตที่ยั่งยืน. สืบค้นจาก
https://www.thairath.co.th/lifestyle/life/2756923
ภูริตา บุญล้อม และ วริศรา ลิ้มอนันตระกูล. (2567). ส่อง 10 เทรนด์สุขภาพที่คาดว่าจะมาแรงในปี 2024. สืบค้นจาก
https://thestandard.co/life/10-health-trends-2024/
สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงเฮก. (2567). เทรนด์อาหารประจำปี 2024 โดย Thuisbezorgd.nl.สืบค้นจาก
https://www.ditp.go.th/post/161528
Marketeer Team (นามแฝง). (2566). 10 เทรนด์อาหารยอดนิยมในปี 2024 จากการคาดการณ์ของ Whole Foods. สืบค้นจาก
https://marketeeronline.co/archives/331701
แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง
Carrilero, N. & García-Altés, A. (2024). Health inequalities in childhood diseases: temporal trends in the inter-
crisis period. International Journal for Equity in Health, 23(1): 1-13. Retrieved from
Daniele, G. M., Medoro, C., Lippi, N., Cianciabella, M., Magli, M., Predieri, S., Versari, G., Volpe, R. & Gatti, E.
(2024). Exploring Eating Habits, Healthy Food Awareness, and Inclination toward Functional Foods of
Italian Elderly People through Computer-Assisted Telephone Interviews (CATIs). Nutrients, 16(6): 762.
Retrieved from https://kasets.art/qOCjcf
Flores, A. C., Sarpong, C., Dou, N. & Na, M. (2024). Food sufficiency status and sleep outcomes in older adults:
the National Health and Aging Trends Study (NHATS). Nutrition Journal, 23(1): 1-9. Retrieved from
Flórez‐Martínez, D. H., Rodríguez‐Cortina, J., Chavez‐Oliveros, L. F., Aguilera‐Arango, G. A. &
Morales‐Castañeda, A. (2024). Current trends and prospects in quinoa research: An approach for
strategic knowledge areas. Food Science & Nutrition, 12(3): 1479-1501. Retrieved from
Silva, A. S., Casarotti, S. N. & Penna, A. L. B. (2024). Trends and challenges for the application of probiotic
lactic acid bacteria in functional foods. Ciencia Rural, 54(5). Retrieved from https://kasets.art/JE3tEw
related post you may also like

Google Bard : AI Chatbot

การเกษตรแบบไร้ขยะ

เทรนด์อาหารสุขภาพ ปี 2023
