ความยั่งยืนทางด้านอาหารและการเกษตร

ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความยั่งยืนในช่วงนี้ คือเรื่องของความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งเป็นเรื่องหลักไม่น้อยไปกว่าเรื่องอื่นเช่นกัน เนื่องด้วยอาหารเป็น 1 ในปัจจัย 4 ที่ทุกคนต้องประสบในชีวิตประจำวันอยู่แล้ว โดยมีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจจากงาน “Sustrends 2025” ที่โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) หรือ UNDP ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ณ พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ กรุงเทพฯ โดยในช่วงที่คุณจักรชัย โฉมทองดี (ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ PlantWorks) ได้กล่าวนั้น เป็นประเด็นสำคัญในแง่มุมของการปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหาร เน้นการลดเนื้อสัตว์ ปรับให้สมดุล เพื่อความยั่งยืน เนื่องด้วยมองว่าการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าด้านพลังงานเชื้อเพลิงจากการใช้รถเสียอีก เพราะการใช้รถยนต์ได้เริ่มปรับเปลี่ยนไปเป็นพลังงานไฟฟ้า หรือคือพลังงานสะอาดที่มากขึ้นแล้ว มีสรุปไว้เป็นประเด็นสำคัญ 3 หัวข้อ ดังนี้

            (1) Planting Sustainability พบว่า กว่าจะได้เนื้อสัตว์มา ต้องผ่านกระบวนการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นการปล่อยของเสียได้มากกว่าการเพาะปลูกผักหรือการบริโภคผัก และมีกลุ่มที่เรียกว่า “Flexitarian” กล่าวคือ เป็นกลุ่มที่ไม่ใช่มังสวิรัติ แต่พยายามปรับลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงให้เกิดความสมดุลมากขึ้น (2) Growing Healthspan เป็นการมองว่า เมื่อช่วยโลกแล้ว สุขภาพของผู้บริโภคก็ย่อมดีขึ้นด้วยเช่นกัน (3) Kitchen of the World มองว่า แบ่งอาหารออกเป็น 2 ประเภท คือ อาหารแห่งอนาคต และ อาหารแห่งวันวาน ซึ่งอาหารแห่งอนาคต ต่อไปอาจมีการปรับให้เป็นลักษณะของรูปแบบการทานอาหารที่เน้นพืชเป็นหลัก แทนการบริโภคโปรตีนจากเนื้อสัตว์ หรือที่เรียกว่า ‘Plant-Based’ มากขึ้น หรืออาจมีการเก็บภาษีอาหารนำเข้าที่มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ จึงควรเริ่มปรับตัว แต่ก็แนะนำให้ไม่ลืมอาหารแห่งวันวาน อันเป็นธรรมชาติดั้งเดิมที่มีมาเช่นกัน

ที่มา : mitraweb.in

            นอกจากนี้ ความยั่งยืนเรื่องของอาหาร ยังส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางด้านเกษตรกรรมด้วยสืบเนื่องกันไป จึงเป็นที่มาว่า ในการปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารของผู้บริโภคก็ย่อมส่งผลต่อเกษตรกรในการปรับการเพาะปลูก เพื่อผลิตวัตถุดิบอันเป็นแหล่งอาหารเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า ผู้บริโภคมักไม่คิดว่าอาหารที่เลือกรับประทานในทุกวันนี้ล้วนมาจากเกษตรกรรายย่อยหรือเกษตรกรท้องถิ่นค่อนข้างมาก แต่เกษตรกรเหล่านั้นกลับได้ผลตอบแทนหรือค่าแรงไม่คุ้มค่ากับสิ่งที่ลงทุน ลงแรงไป ซึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ ความยั่งยืนไม่ใช่แค่การปรับเปลี่ยนการบริโภคอาหารที่ปลายทางเท่านั้น แต่ควรพิจารณาความยั่งยืนของเกษตรกรในต้นทางควบคู่กันไปด้วย จึงจำเป็นที่ผู้บริโภคควรจะต้องทราบที่มาของอาหาร มีความรู้ความเข้าใจเพิ่มขึ้น เพื่อให้ความยั่งยืนครอบคลุมครบทุกด้าน และเป็นความยั่งยืนอย่างแท้จริง  
           ประเด็นต่อมาที่สำคัญคือ ประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ ประเทศอินเดีย ก็ได้มีการปรับตัวทั้งเรื่องของอาหาร เกษตรกรรม จนไปถึงทางด้านอุตสาหกรรมเกษตรที่มุ่งสู่ความยั่งยืนเช่นกัน และอาจส่งผลต่อประเทศไทยได้ เนื่องด้วยเป็นแหล่งอาหารขนาดใหญ่ทั้ง 2 ประเทศ ส่วนที่น่าสนใจคือ ภาพรวมอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดียเป็นอย่างไร และส่งผลต่อโอกาสของผู้ประกอบการไทยอย่างไรบ้าง

            การเติบโตของอุตสาหกรรมเกษตรและอาหารอินเดีย
            อินเดียมีประชากรกว่า 1.525 พันล้านคน ถือเป็นประเทศที่มีประชากรจำนวนมาก ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก โดยในปี 2573 คาดว่าจะมีการเติบโต มูลค่าประมาณ 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งคิดเป็นค่าเฉลี่ย 10.6% ต่อปี โดยประมาณ ทั้งนี้ มีสินค้าเกษตรที่สำคัญ คือ นมกระบือ นมวัว ข้าว ข้าวโพด ฝ้าย เครื่องเทศ ซึ่งอินเดียถือเป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ของโลก

            ปัจจัยหนุนการเติบโต ได้แก่

            1. การเพิ่มขึ้นของประชากร กล่าวคือ การเพิ่มขึ้นของประชากรวัยแรงงาน ส่งผลดีต่อแรงงานภาคการเกษตร

            2. การมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเกษตรที่ดี โดยเฉพาะระบบชลประทาน เช่น โครงการเชื่อมโยงแม่น้ำ

            3. การใช้เทคโนโลยีการเกษตร (AgriTech) เช่น AI, IoT เพื่อเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุน

            4. นโยบายของรัฐ สนับสนุนการเกษตรยั่งยืน Green Finance การเข้าถึงสินเชื่อ และลดความยากจน

            โอกาสสำหรับผู้ประกอบการไทย

            1. ขยายธุรกิจไปอินเดีย โดยเฉพาะกลุ่ม ปศุสัตว์ อาหารแปรรูป เครื่องดื่ม

            2. ตอบรับกระแสโลกสีเขียว ด้วยสินค้าเนื้อสัตว์จากพืช (Plant-based meat) ข้าวรักษ์โลก บรรจุภัณฑ์ย่อยสลายได้

            3. ตัวอย่างการลงทุนไทยที่อินเดีย

               3.1 เครือ CP ลงทุนในอาหารสัตว์ ฟาร์มสัตว์ปีก และอาหารแปรรูป

               3.2 ไทยยูเนี่ยน ร่วมทุนจัดหาวัตถุดิบอาหารคุณภาพ

            คำแนะนำเพื่อการปรับตัวสำหรับผู้ประกอบการไทย

            1. ศึกษากฎระเบียบเข้มงวดด้านอาหารของอินเดีย เช่น FSSAI

            2. สร้างเครือข่ายพันธมิตรในท้องถิ่น หรือร่วมทุน

            3. ปรับตัวสู่การผลิตที่ยั่งยืน เช่น เกษตรอินทรีย์ Green Supply Chain

            4. เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคอินเดียที่นิยมอาหารมังสวิรัติและใส่ใจสิ่งแวดล้อม

            ความท้าทาย

            1. อินเดียอาจกลายเป็นคู่แข่งด้านการส่งออกสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ที่มีต้นทุนต่ำกว่าไทย

            2. ไทยควรเน้นสร้างความแตกต่างของสินค้า เช่น เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market)

            3. ส่งเสริมความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น การจัดทำข้อตกลง FTA เพื่อขยายตลาด

            จากข้อมูลทั้งหมดจะเห็นได้ว่า อุตสาหกรรมเกษตรและอาหารของอินเดียกำลังเติบโตอย่างมีศักยภาพสูง เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะรายใหญ่และ SMEs ที่เน้นความยั่งยืนและนวัตกรรมในการผลิตและแปรรูปอาหาร ควรเตรียมความพร้อมด้านกฎระเบียบ การสร้างพันธมิตร และการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคอินเดียยุคใหม่ เพื่อให้สามารถขยายตลาดไปยังอินเดีย เป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอีกด้านหนึ่งได้
            ในอีกแง่มุมหนึ่ง จากงานสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 “Unbox & Unlock Thai Agriculture : ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส” เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยในช่วงของการเสวนา “ปรับเกษตรไทยรับเทรนด์โลก ก้าวกระโดดสู่อนาคต” นั้น มีประเด็นที่ ดร.ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย และดร.จงรักษ์ ฐินะกุล ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ได้กล่าวสรุปไว้ถึงประเด็นความยั่งยืนเกี่ยวกับเกษตรกรไทย อันจะส่งผลต่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ดังนี้

            ประเด็นจาก ดร.ชัยชาญ เจริญสุข

            1. เทรนด์ใหม่ที่ส่งผลต่อสินค้าเกษตรไทย

                1.1 การจัดการเชิงพื้นที่ - อุณหภูมิสูงขึ้น อาจทำให้ราคาที่ดินลดลง และส่งผลต่อการผลิต

                1.2 มาตรการความยั่งยืนจากต่างประเทศ - เช่น EUDR กดดันเกษตรไทย แต่หากปรับตัวได้ อาจมีราคาสูงขึ้น

                1.3 ผลผลิตลด แต่คุณภาพต้องเพิ่ม - เพื่อเป็นการชดเชยและสร้างมูลค่าเพิ่มทดแทน

                1.4 ต้องรับมือกับการตรวจสอบย้อนกลับ (trace back) - ด้านสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมปลายน้ำ

                1.5 สินค้าเกษตรคุณภาพต่ำจากต่างประเทศ - ทุ่มตลาด กระทบเกษตรกรโดยตรง

            2. แนวทางการปรับตัวของเกษตรกร

                2.1 ต้องเรียนรู้ เข้าถึง นวัตกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี

                2.2 ส่งเสริม การรวมกลุ่มแบบสหกรณ์ ชุมชน

                2.3 รัฐควรสนับสนุนด้านการปรับปรุงพันธุ์พืช เช่น มันสำปะหลัง

                2.4 สถาบันการศึกษา และเกษตรจังหวัดต้องมีบทบาทร่วมพัฒนา

            3. การพัฒนาเพื่อรองรับอนาคต

                3.1 ใช้เทคโนโลยีบริหารจัดการน้ำ และอากาศแบบอัจฉริยะ

                3.2 สร้างระบบช่วยเหลือและเยียวยาเมื่อเกิดวิกฤติ

                3.3 วางแผนประกันความเสี่ยงราคาผลผลิต

                3.4 พัฒนาตลาดรองรับสินค้าเกษตรที่มีศักยภาพสูง

                3.5 เชื่อมโยงผู้ผลิต-อุตสาหกรรม ลดข้อจำกัดทางกฎหมาย

                3.6 ผสานประสบการณ์ของเกษตรกรสูงอายุกับความคิดการตลาดของคนรุ่นใหม่

            ประเด็นจาก ดร.จงรักษ์ ฐินะกุล

            1. ผลกระทบจากภาวะโลกร้อนต่อการเกษตร

                1.1 ผลผลิตลดลง โรคและแมลงเพิ่ม คุณภาพพืชแย่ลง

                1.2 เกิดภัยพิบัติบ่อยขึ้น ดินเสื่อมโทรม ขาดแคลนน้ำจืด

                1.3 ฤดูกาลแปรปรวน ส่งผลต่อการผลิต

                1.4 ความมั่นคงอาหารลดลง ทำให้ราคาอาหารสูงขึ้น

            2. แนวทางการปรับตัว

                2.1 พัฒนาพันธุ์พืชและสัตว์ให้ทนต่อสภาพอากาศที่แปรปรวนได้

                2.2 ใช้เทคโนโลยีการผลิตเข้าช่วย เช่น โดรน ระบบภูมิศาสตร์

                2.3 เปลี่ยนรูปแบบการผลิตให้มีความเหมาะสม เช่น เกษตรอินทรีย์ เกษตรผสมผสาน

                2.4 สร้างระบบบริหารจัดการความรู้ เช่น การสนับสนุนเงินทุน ประกันภัย วิจัย

                2.5 วางแผนการใช้ที่ดินให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมและชุมชน

            กล่าวโดยสรุป เกษตรไทยต้องปรับตัวเชิงรุกให้รับมือกับเทรนด์โลก ทั้งด้านกฎหมาย สิ่งแวดล้อม และการตลาด รวมถึงการผนึกกำลังระหว่างรัฐ เกษตรกร ชุมชน วิชาการ และเอกชนด้วย ซึ่งถือเป็นกุญแจสำคัญ และควรเร่งสร้างระบบนวัตกรรม องค์ความรู้ และโครงสร้างพื้นฐาน ให้รองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

เกาะกระแสเศรษฐกิจ. (2568). ความรุ่งเรืองของแดนภารตะบนเส้นทางครัวโลกโอกาสของภาคเกษตรและอาหารไทย. สืบค้นจาก 

            https://korkasaesettakij.wordpress.com/2025/01/03/ความรุ่งเรืองของแดนภาร/

จุลวรรณ เกิดแย้ม. (2568). ทําไมต้นกําเนิดของ ‘อาหาร’ มีความสําคัญต่ออนาคตที่ยั่งยืน. สืบค้นจาก

            https://www.bangkokbiznews.com/environment/1184066

เมธิรา เกษมสันต์. (2567). 45 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังจะเปลี่ยนโลก จาก 15 วิทยากรตัวจริง ในงานสัมมนาด้านความยั่งยืน 

            Sustrends 2025. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/45-sustainability-trends-from-sustrends-2025/

สำนักข่าวอินโฟเควสท์. (2567). เกษตรกรไทยถึงเวลาต้องปรับตัว รับเทรนด์โลก-สิ่งแวดล้อม-นวัตกรรมใหม่.

            https://www.infoquest.co.th/2024/455123

สำนักงานเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดสระบุรี. (2567). ร่วมสัมมนา เรื่อง ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรปี 2567 และแนวโน้มปี 2568 

            “Unbox & Unlock Thai Agriculture : ปลดล็อกเกษตรไทย ทุกปัจจัยคือโอกาส”. สืบค้นจาก

            https://www.opsmoac.go.th/saraburi-news-preview-462991792182

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Bacheva, V., Madison, I., Baldwin, M., Baker, J., Beilstein, M., Call, D. F., Deaver, J. A., Efimenko, K., Genzer, J., 

            Grieger, K., Gu, A. Z., Ilman, M. M., Liu, J., Li, S., Mayer, B. K., Mishra, A. K., Nino, J. C., Rubambiza, G., 

            Sengers, P., … Stroock, A. D. (2025). Transdisciplinary Collaborations forAdvancing Sustainable and 

            Resilient Agricultural Systems. Global Change Biology, 31(4): e70142. Retrieved from 

            https://doi.org/10.1111/gcb.70142

Góralska-Walczak, R., Stefanovic, L., Kopczyńska, K., Kazimierczak, R., Bügel, S. G., Strassner, C., Peronti, B., 

            Lafram, A., El Bilali, H., & Średnicka-Tober, D. (2025). Entry Points, Barriers, and Drivers of 

            Transformation Toward Sustainable Organic Food Systems in Five Case Territories in Europe and 

            North Africa. Nutrients, 17(3). Retrieved from https://doi.org/10.3390/nu17030445

Machado, P. B., Chagas, C. M. D. S., Cordeiro, A. de A., Castro, E. G. de, & Souza, T. S. N. de. (2025). Food and 

            sustainability from a multidimensional perspective: perceptions and practices of rural youth. 

            Cadernos de Saude Publica, 41(5): e00101623. Retrieved from 
            https://doi.org/10.1590/0102-311XPT101623

Mandal, S. K., & Singhal, M. (2025). Enhancing collaboration quotient in crop protection research and 

            development - multi-disciplinary cross-learning to promote sustainability. Pest Management
            Science, 81(5): 2522–2528. Retrieved from https://doi.org/10.1002/ps.8540

Tiyndel, G. J., Bhatia, J. K., Bhyan, S., Bishnoi, D. K., Papang, J. S., & Bhardwaj, N. (2025). Measuring farm 

            sustainability index: priorities for sustaining livelihoods of farm households in Haryana, India. 

            Scientific Reports, 15(1): 13962. Retrieved from https://doi.org/10.1038/s41598-024-84004-z

ดวงพร อรัญญพงษ์ไพศาล | 25/06/2568 | 5 | share : , ,