มิติ ‘ความยั่งยืน’ ปี 2025

ผู้เรียบเรียง
ชนารัตน์ บุณยรัตพันธุ์
นักเอกสารสนเทศชำนาญการ ฝ่ายบริการ
สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

            หากกล่าวถึงเรื่องของสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ทุกคนต่างให้ความสนใจจนเป็นกระแสในทุกวันนี้ โดยเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Programme) หรือ UNDP ร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ จัดงาน “Sustrends 2025” ขึ้น ณ พิพิธภัณฑ์สวนป่าเบญจกิติ กรุงเทพฯ ซึ่งพบว่ามีประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในแง่มุมต่าง ๆ ที่น่าสนใจมากมาย อาจทำให้เห็นว่าประเทศหรือโลกกำลังเผชิญกับสิ่งใด และกำลังจะมุ่งหน้าพัฒนาไปยังทิศทางใด ให้ได้เตรียมตัวกัน โดยหลักสำคัญในงาน คือ SDGs หรือ Sustainable Development Goals เป็นเป้าหมายที่สหประชาชาติ 193 ประเทศ ลงนามร่วมกัน ในปี 2015 ที่ระบุว่า จะทำสำเร็จครบทั้ง 17 ข้อ ภายในปี 2030 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงไม่กี่ปี แต่พบว่า ค่าเฉลี่ยการดำเนินการสำเร็จไปแล้ว โดยรวมอยู่ที่ 17% เท่านั้น แม้ว่าประเทศไทยจะดำเนินการได้ประมาณ 42% แต่ก็ต้องประเมินสถานการณ์ตามภาพรวม ซึ่งมองว่า เอเชียแปซิฟิกจะบรรลุเป้าหมายช้าไปกว่าเดิมประมาณ 32 ปี สิ่งสำคัญที่ต้องทำมีอยู่ 2 ปัจจัย คือ 1) Integration เป็นการที่หลายภาคส่วนมีการบูรณาการร่วมกัน และ 2) Localization เป็นการร่วมมือกันเริ่มต้นดำเนินการในพื้นที่ชุมชนหรือท้องถิ่นของตัวเอง

ที่มา : thematter.co

            ประเด็นที่น่าสนใจในแง่มุมของความยั่งยืน ถือได้ว่าค่อนข้างกว้างมาก ซึ่งสิ่งสำคัญที่พอสรุปได้ มีจำนวน 10 ประเด็น ดังนี้

            1) กฎระเบียบด้านความยั่งยืน กล่าวคือ หน่วยงานจะมีการกำชับเข้มงวดเรื่องความยั่งยืนเพิ่มขึ้น อาจเป็นการนำกลยุทธ์มาใช้ หรือทำให้เห็นความโปร่งใสของหน่วยงาน อันเกิดจากการบูรณาการเข้ากับส่วนงาน

            2) การเงินยั่งยืน กล่าวคือ มีแนวโน้มการเติบโตเป็นอย่างมาก และเน้นเรื่องของการระดมทุนเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สินเชื่อที่สอดคล้องกับความยั่งยืน

            3) ความหลากหลาย ความเท่าเทียม และการรวมเป็นหนึ่ง กล่าวคือ เป็นแนวทางที่ผู้นำองค์กรจะใช้วัดพนักงาน ถือเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ที่เรียกย่อ ๆ ว่า DEI (Diversity, Equity, Inclusion) ซึ่งผู้นำยุคใหม่จำเป็นต้องมี และควรจัดการอบรมให้กับพนักงานในองค์กร เพื่อเป็นการอัปสกิลเพิ่มขึ้นด้วย

            4) ESG กล่าวคือ เป็นแนวคิดที่เน้นการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน โดยมี 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งกล่าวได้ว่า ผู้บริหารองค์กรในยุคนี้แทบจะยึดหลักการนี้เป็น KPI ก็ว่าได้ โดยในปี 2023 ที่ผ่านมา ตัวชี้วัดด้านสิ่งแวดล้อมที่ถูกนำไปใช้มากที่สุด คือ การลดการปล่อยคาร์บอน 

            5) การจัดการน้ำ กล่าวคือ เน้นดำเนินการเพื่อลดปัญหาการขาดแคลนน้ำ เช่น การจัดทำแผนการจัดการน้ำโดยลดการใช้น้ำ การปรับปรุงเทคนิคชลประทาน และการอนุรักษ์ระบบนิเวศ

            6) เศรษฐกิจหมุนเวียน กล่าวคือ ในปี 2025 นี้ จะมีการนำหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้กันมากขึ้น โดยเน้นให้ผู้จำหน่ายลดผลกระทบในวงจรชีวิตของผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงผู้บริโภคและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันหาวิธีช่วยกันอย่างยั่งยืน

            7) ธรรมชาติ กล่าวคือ เป็นการเน้นการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน หรือ NbS (Nature-based Solutions) ซึ่งในปี 2025 นี้และต่อ ๆ ไป หลายหน่วยงานจะมีการบูรณาการ NbS เข้าเป็นแผนการดำเนินงานด้วย และจะมีการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าของปัจจุบัน

            8) พลังงานหมุนเวียน กล่าวคือ บริษัทต่าง ๆ จะลงทุนในพลังงานหมุนเวียน โดยตั้งเป้าการใช้พลังงานสะอาดอยู่ที่ 100% ซึ่งหากบริษัทใดยังไม่มีแผนเตรียมรับมือเรื่องนี้ ในอนาคตอาจจะต้องลงทุนซื้อพลังงานชนิดนี้ในราคาที่ค่อนข้างสูง

            9) AI กล่าวคือ จะมีการเติบโตเพิ่มขึ้น และนำมาใช้เกี่ยวกับความยั่งยืนหรือการลดคาร์บอนเพิ่มขึ้น

            10) คาร์บอน กล่าวคือ การติดตามและเพิ่มประสิทธิภาพคาร์บอน ซึ่งถือเป็นเป้าหมายหลักในปี 2025 รวมถึงตลาดคาร์บอนแบบภาคสมัครใจ (VCM) มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมากเช่นกัน

            นอกจากนี้ หากกล่าวถึง ‘ความยั่งยืน’ แล้วนั้น มีมุมมองในมิติต่าง ๆ ที่หลากหลายแตกต่างกันไป แต่น่าสนใจ ซึ่งหากศึกษาพิจารณาอย่างครบถ้วน ชัดเจนแล้วนั้น จะพบว่า สอดคล้องกับปัจจัย 2 อย่างที่กล่าวไปในข้างต้น คือ 1) Integration เป็นการที่หลายภาคส่วนมีการบูรณาการร่วมกัน และ 2) Localization เป็นการร่วมมือกันเริ่มต้นดำเนินการในพื้นที่ชุมชนหรือท้องถิ่นของตัวเอง อันพอจะทำให้เห็นว่าเป็นไปในแนวทางเดียวกัน สรุปได้ดังต่อไปนี้

  • พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (นักมานุษยวิทยา นักประวัติศาสตร์ ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร)
         มองว่า ความยั่งยืนที่แท้จริงคือการรักษาดุลยภาพของโลก เทียบคำว่า Sustainable Development กับคำว่า ธัมมจักกัปปวัตรสูตร ในพุทธศาสนา (เพราะหากมองตามความเป็นจริงคือ ความยั่งยืนไม่มีอยู่จริง เพราะไม่มีสิ่งใดยั่งยืน)
  • พินทุ์สุดา ชัยนาม (อธิบดีกรมองค์การระหว่างประเทศ)
        กล่าวสรุปสาระสำคัญจากการประชุมใหญ่ของสหประชาชาติที่ชื่อ “Submit of the Future” ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 22-23 กันยายน 2025 ที่ผ่านมา ณ เมืองนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมี 3 ประเด็นหลักที่ร่วมกันพิจารณา คือ
                     1) All in the Universe - ประเด็นสำคัญเร่งด่วนที่ขอให้ทุกประเทศร่วมมือกัน ได้แก่ การพัฒนาที่ยั่งยืนและการระดมทุนเพื่อพัฒนา สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ความสัมพันธ์ของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เยาวชนรุ่นหลัง และธรรมภิบาลของโลก
                     2) For Present and Future Generations – คือการขอให้พึงระวัง ทำสิ่งใดให้คิดถึงคนรุ่นหลังด้วย
                     3) Pact for the Future - ข้อปฏิบัติ 60 ข้อ (60 Actions) ที่ร่วมกันลงนาม เพื่อเสริมให้ SDGs ประสบความสำเร็จเร็วมากขึ้น
  • ดร.ธันยพร กริชติทายาวุธ (ผู้อำนวยการสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กแห่งประเทศไทย)
        มองในแง่มุมของการพัฒนา ‘ทุนมนุษย์’ (Human Capital) โดยสรุปไว้เป็น 3 ประเด็น ดังนี้

                 (1) Sustainable Intelligence (ภูมิปัญญาที่ยั่งยืน)
                      ต้องเน้นให้คนมีองค์ความรู้ 3 เรื่องสำคัญ คือ อากาศ น้ำ และอาหาร โดยส่วนใหญ่พบว่า ผู้บริหารที่มีแผนรับมือและดำเนินการได้จริงทั่วโลก มีเพียง 10% เท่านั้น ที่เหลืออาจเป็นประเภทมีแผนแต่ยังทำไม่ได้ หรือไม่มีแผนเลย

                 (2) Global Digital Compact (ความร่วมมือทางดิจิทัล)
                      เน้นให้เทคโนโลยีเข้าถึงทุกพื้นที่/ทุกกลุ่มได้อย่างเท่าเทียม สร้างองค์ความรู้ และเพิ่มการกำกับดูแลให้เทคโนโลยีไม่ส่งผลเสีย มีความปลอดภัย และมั่นคง

                 (3) Inner Development Goals (IDGs) (การพัฒนาจากภายใน)
                      แนวทางนี้เป็นการมองว่าต้องเสริมสร้างให้มีความยั่งยืนในระดับบุคคลด้วย โดยแบ่งเป็น 5 มิติ ได้แก่ Being, Thinking, Relating, Collaborating และ Acting

  • ดร.เสรี นนทสูติ (กรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม)
            มองว่า สิทธิมนุษยชน คือความยั่งยืนยุคใหม่ โดยให้ความสำคัญกับ ESG อันได้แก่ Environment, Social และ Governance ซึ่งถือเป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ควรมี และในอนาคต หากไม่ปรับตัวก็จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ เนื่องจากจะถูกบีบบังคับทั้งจากกฎหมายภายในประเทศ และการควบคุมจากภายนอกแบบอ้อม ๆ ดังที่เริ่มมีหลายกฎหมายทยอยออกมาบ้างแล้ว
  • สุดารัตน์ เมฆฉาย (กรรมการสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย)
            ได้ใช้ภาษามือแทนการบรรยาย ที่ชี้ให้เห็นความสำคัญของผู้พิการ โดยขอความร่วมมือให้สังคมดำเนินการดังนี้ 1) ยุติการเลือกปฏิบัติ 2) ลดความเหลื่อมล้ำ และ 3) สร้างการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ
  • กิตตินันท์ ธรมธัช (นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย)
           สรุปให้เห็นสาระสำคัญของประเด็นต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ 1) ความหลากหลายทางเพศ – มองว่าแคบไป ควรมองในแง่ของความหลากหลายของมนุษย์ในมิติต่าง ๆ แทน 2) อัตลักษณ์ทับซ้อน - มองว่าอย่างที่กฎหมายไทยให้คำนิยามของกลุ่มเปราะบาง โดยแบ่งไว้เป็น 13 กลุ่มนั้น บางคนอาจมีหลายอัตลักษณ์ได้ จึงทับซ้อนกันไปหลายกลุ่ม ซึ่งวิธีการที่ดีคือ ควรส่งเสริมแต่ละกลุ่มให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มากกว่าการสงเคราะห์ด้วยปัจจัยต่าง ๆ แทน 3) ขจัดการเลือกปฏิบัติ - มองว่า หากทำได้ ก็จะเป็นการตอบโจทย์ SDGs ข้อ 10 ด้วย
  • รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์ (คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย)
         กล่าวถึงประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ 1) สิทธิการเจริญพันธุ์ - ที่กลุ่ม LGBTQA+ ก็อาจมีความต้องการในการมีบุตร อันนำไปสู่แม่อุ้มบุญ หรือการใช้เทคโนโลยีเข้าช่วยกับภาวะผู้มีบุตรยาก 2) การดูแลสุขภาพเฉพาะบุคคล – ในอนาคตอาจเป็นการวินิจฉัยหาสาเหตุถึงกรรมพันธุ์ ไม่ใช่เพียงเฉพาะโรคที่เห็นเท่านั้น และ 3) สิทธิ์การตาย - การทำการุณยฆาต ที่จะมีการพัฒนาให้มีความเหมาะสม ไม่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งมองว่าทั้ง 3 ประเด็นนี้ ควรมีการคำนึงถึงขอบเขตของกฎหมายให้ครอบคลุมทุกมิติก่อน
  • ดร.พิเศษ สอาดเย็น (ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน)
         มองเรื่องของความเป็นธรรมในสังคม โดยกล่าวให้เห็นประเด็นสำคัญ 3 ประเด็น คือ (1) Justice isn’t Keeping Pace with the Changing World - มองว่า กฎหมายบางครั้งก็ปรับเปลี่ยนไม่ทันกับโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงไป (2) Justice is Everyone’s Matter - มองว่า กฎหมายควรไม่ใช่หน้าที่ของนักกฎหมายเท่านั้น แต่ควรเป็นเรื่องของประชาชนด้วย ซึ่งควรทำให้เป็นภาษาง่ายที่ประชาชนทั่วไปเข้าถึงได้ และเปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็นร่วมกัน เหมือนดังประเทศญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกา และ (3) Power of Asking the Right Question – การตั้งคำถามที่ถูกต้องถือเป็นสิ่งที่มีพลัง เพราะย่อมนำไปสู่คำตอบที่ชัดเจน ถูกทาง 
  • ดร.ปิ่นสักก์ สุรัสวดี (อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
         กล่าวถึงประเด็นสำคัญด้านสิ่งแวดล้อม และมุ่งเน้นให้ประชาชนได้ตระหนักถึงปัญหาและเฝ้าระวัง โดยกล่าวว่า ขณะนี้โลกกำลังเผชิญกับปัญหาที่เรียกว่า ‘Tripple Planetary Crisis’ (วิกฤตการณ์โลก 3 ประการ) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ และมลพิษ 1) ความเสี่ยง กล่าวคือ ต้องรู้ว่าเหตุการณ์ใดส่งผลกระทบต่อสิ่งใดบ้าง ไม่ใช่เพียงสิ่งเดียว เพื่อให้ได้เฝ้าระวังได้อย่างครอบคลุม 2) ความสัมพันธ์ กล่าวคือ สิ่งแวดล้อมไม่สามารถแยกออกจากธุรกิจได้ เพราะเป็นเรื่องที่ส่งผลต่อกัน 3) ความสมดุล ต้องมองให้เห็นก่อนว่ามนุษย์ไม่สามารถไปเปลี่ยนธรรมชาติได้ ควรอยู่อย่างเข้าใจ
  • ดร.เพชร มโนปวิตร (เลขาธิการมูลนิธิโลกสีเขียว และนายกสมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย)
        กล่าวให้เห็นความสำคัญของกฎหมาย จำนวน 3 ฉบับ ได้แก่ (1) กฎหมาย Biodiversity Net Gain ของสหราชอาณาจักร (ปี 2023) ที่เน้นเรื่องของการทำ EIA เพื่อป้องกันผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และเป็นการสำรวจความหลากหลายในพื้นที่ก่อนและหลังโครงการ (Biodiversity Footprint) (2) กฎหมาย Nature Repair Bill ของออสเตรเลีย (ปี 2023) เป็นไปในลักษณะ พ.ร.บ. ซ่อมแซมธรรมชาติ ซึ่งออสเตรเลียถือเป็นประเทศแรกของโลกที่นำเครื่องมือ Biodiversity Credit เชิงสมัครใจมาใช้ และ (3) กฎหมาย Nature Restoration Law ของสหภาพยุโรป (ปี 2024) เป็นไปในลักษณะ พ.ร.บ. ฟื้นฟูธรรมชาติ
  • เพียรพร ดีเทศน์ (ผู้อำนวยการรณรงค์ภูมิภาค International Rivers)
        กล่าวถึงประเด็นของแม่น้ำโขง เพื่อให้เห็นที่มาจากอดีตถึงปัจจุบัน และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการที่ผู้คนพยายามเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขง โดยเน้นในส่วนของการที่ผู้คนรอบแม่น้ำโขงที่ได้รับผลกระทบออกมาปกป้อง ต่อต้านเพื่อชีวิตของตนเอง และธรรมชาติที่พึ่งพาอาศัยบริเวณนั้น รวมไปถึงสิทธิของแม่น้ำ ที่ผู้มีสิทธิจริง ๆ คือแม่น้ำกลับไม่ได้มีโอกาสในการใช้สิทธิเพื่อปกป้องตนเอง
  • ดร.ครรชิต รองไชย (ผู้ก่อตั้ง AI and Sustainability Laboratory)
        กล่าวถึงการใช้ AI เพื่อตอบโจทย์ความยั่งยืน โดยกล่าวว่ามี 3 เทรนด์ คือ (1) Sustainable AI (2) Human in the Loop (3) Do No Harm
  • ผศ.ดร.ชล บุนนาค (ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)
         กล่าวให้เห็นประเด็นสำคัญว่า (1) ทำไมต้องไปต่อ – เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดของมนุษยชาติ (2) โลกควรไปต่ออย่างไร – ยังคงควรยึดหลัก SDGs 17 ข้ออยู่ (3) ไทยควรไปต่ออย่างไร - ควรกำหนดยุทธศาสตร์ และกลไกของประเด็นต่าง ๆ ให้ชัดเจนขึ้น
  • สฤณี อาชวานันทกุล (กรรมการผู้จัดการด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด)
    (1) ความมั่นคงทางพลังงาน (Energy Security) มองว่า ในยุคใหม่นี้ควรเปลี่ยนจากการรวมศูนย์ป็นการกระจายอำนาจให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในการจัดการมากขึ้น 
    (2) ราคาที่เหมาะสม (Appropriate Price) เนื่องด้วยมองว่ามีหลายทางเลือกที่ดีกว่า ที่ช่วยให้ค่าไฟเป็นธรรม แต่กลับกลายเป็นเลือกสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ จำนวน 8 แห่ง เขื่อนใหญ่ จำนวน 3 แห่ง และสำรองไฟฟ้าเกิน 2 เท่า ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่สิ่งจำเป็น (3) Green เสนอแนะว่าให้มองให้เห็นและยอมรับให้ได้ว่า กรีนที่แท้จริงคืออะไร เป็นอย่างไร เช่น การโฆษณาว่าพลังงานไฟฟ้าจากเขื่อนเป็นพลังงานที่สะอาด เป็นจริงหรือไม่ เป็นต้น

            นอกจากนี้ ในงานวิจัยที่เป็นผลสำรวจล่าสุด ปี 2025 ของ Marketbuzzz และวิทยาลัยโลกคดีศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นั้น พบว่า ประชาชนมีความกังวลต่อปัญหาสิ่งแวดล้อมมากกว่าปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ โดย 3 อันดับแรก ได้แก่ ภาวะโลกร้อน (46%) มลพิษทางอากาศ (45%) และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (29%) ซึ่งส่วนใหญ่พบว่า ผู้บริโภคมีความตระหนักแต่ยังเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมน้อย และระบบในประเทศไทยยังไม่สนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันนำไปสู่ความยั่งยืนได้อย่างครอบคลุม ทั้งนี้ ในส่วนของการบริหารจัดการความยั่งยืนในเชิงธุรกิจจะเปลี่ยนไป ไม่ใช่ CSR ที่เป็นเพียงการสร้างภาพลักษณ์เหมือนดังแต่ก่อน แต่กลายเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ใช้รองรับความอยู่รอดขององค์กรด้วย หากไม่ปรับตัวให้ทัน ก็ไม่อาจอยู่ได้ ดังเช่น การที่พลังงานสะอาดจะไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่กลายเป็นข้อบังคับใหม่ที่ธุรกิจต้องเร่งปรับตัวเพื่อความเติบโต เช่น การเร่งลงทุนในโซลาร์เซลล์ระดับอุตสาหกรรม พลังงานลม และไฮโดรเจนสีเขียว เป็นต้น

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

กฤตพล สุธีภัทรกุล. (2567). เปิด 10 เทรนด์ด้านความยั่งยืนปี 2025 พร้อมเปลี่ยนโลก แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม. สืบค้นจาก 
            https://www.bangkokbiznews.com/environment/1159665

พิสิฐ ภู่เจริญ. (2568). เจาะเทรนด์ Sustainability 2025 โลกธุรกิจจะเปลี่ยนไปอย่างไร เมื่อ ‘ความยั่งยืน’ กลายเป็นกลยุทธ์หลัก.      
           สืบค้นจาก https://www.mmthailand.com/sustainability-green-supply-chain-trends-2025/

เมธิรา เกษมสันต์. (2567). 45 เทรนด์ความยั่งยืนที่กำลังจะเปลี่ยนโลก จาก 15 วิทยากรตัวจริง ในงานสัมมนาด้านความยั่งยืน 
           Sustrends 2025. สืบค้นจาก https://readthecloud.co/45-sustainability-trends-from-sustrends-2025/

วิรัสนันท์ ถึงถิ่น. (2568). เปิดผลสำรวจ 2025 คนไทยเชื่อว่า ปัญหาสิ่งแวดล้อม สำคัญกว่า ค่าครองชีพสูงขึ้น. สืบค้นจาก 
            https://www.bangkokbiznews.com/environment/1185343

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย. (2567). สนธิสัญญาพลาสติกโลก (Global Plastic Treaty) มาตรการระหว่างประเทศกระทบภาคธุรกิจไทย 
            ไทยเตรียมหาข้อสรุปภายในปี 2025. สืบค้นจาก 
            https://www.kasikornresearch.com/th/analysis/k-social-media/Pages/Global-Plastic-Treaty-SBU324-
            FB-2024-12-25.aspx

แหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

Dhayal, K. S., Giri, A. K., Kumar, A., Samadhiya, A., Agrawal, S., & Agrawal, R. (2023). Can green finance 
             facilitate Industry 5.0 transition to achieve sustainability? A systematic review with future 
             research directions. Environmental Science and Pollution Research International, 30(46): 
             102158–102180. Retrieved from https://doi.org/10.1007/s11356-023-29539-w

Hossin, M. A., Abudu, H., Sai, R., Agyeman, S. D., & Wesseh, P. K., Jr. (2024). Examining sustainable        
             development goals: are developing countries advancing in sustainable energy and 
             environmental sustainability?. Environmental Science and Pollution Research International, 
             31(3): 3545–3559. Retrieved from https://doi.org/10.1007/s11356-023-31331-9

Li, F., & Gan, Y. (2025). Research on the sustainable development capability of Chinese rural 
            E-Commerce based on multidimensional perspective. Scientific Reports, 15(1): 11547. Retrieved from
            https://doi.org/10.1038/s41598-025-95653-z

Lopes, L. M. C., Matias-Correia, R., Silva, R. C. G. D., Machado, N. J. B., & França, A. P. D. S. J. M. (2025).         
           Sustainability in Higher Education: Experience report on achieving Sustainable Development
           Goals. Revista Brasileira de Enfermagem, 77Suppl 2(Suppl 2). Retrieved from 
            https://doi.org/10.1590/0034-7167-2024-0118

Wang, Y., Yu, Y., & Khan, A. (2025). Digital sustainability: Dimension exploration and scale development. 
            Acta Psychologica, 256: 105028. Retrieved from https://doi.org/10.1016/j.actpsy.2025.105028

Yasmin, F., Saleem, M. A., Low, D., Erdiaw-Kwasie, M., & Dahl, S. (2025). Measuring sustainability in social 
            enterprises: Development and validation of a multi-dimensional framework. Acta Psychologica, 
            254: 04807. Retrieved from https://doi.org/10.1016/j.actpsy.2025.104807

 

ดวงพร อรัญญพงษ์ไพศาล | 25/06/2568 | 5 | share : , ,